posttoday

ปัจจัยส่งออกไทย-อาเซียนครึ่งปีหลัง

10 สิงหาคม 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รายงาน "บทวิเคราะห์ส่งออกไทยครึ่งปีหลัง 2561" ผมสามารถสรุปประเด็นที่มีผลต่อการส่งออกไทยและอาเซียน 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้ 1.สงครามการค้า (Trade War) แบ่งการวิเคราะห์เป็น 4 กรณี โดยสงครามการค้าเริ่มวันที่ 6 ก.ค. 2561 เป็นวันที่สหรัฐเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีนก็เก็บภาษีเช่นกัน (กรณีที่ 1) ส่วนกรณีที่ 2 คือ สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยเก็บเพิ่ม 25% เก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จาก EU เพิ่ม 20% และจีนเก็บภาษี 6 หมื่นล้านดอลลาร์

กรณีที่ 3 สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าจากจีน 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยเก็บเพิ่ม 25% และเก็บภาษีนำเข้าจาก EU 1 แสนล้านดอลลาร์ โดยเก็บเพิ่ม 10% ซึ่งจีนเก็บ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และกรณีที่ 4 สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม 25% กับทุกๆ ประเทศ และประเทศต่างๆ ตอบโต้ เห็นได้ว่าความรุนแรงเริ่มจากน้อยไปหามาก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยและอาเซียนในตลาดโลกมากขึ้นตามลำดับ โดยผลกระทบอยู่ในช่วง 0.05-1.2% และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกลดลงช่วง 0.03-1%

2.สงครามค่าเงิน (Currency War) ผลการกีดกันทางการค้าผ่านการตอบโต้ทางภาษีซึ่งกันและกันระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า ทางออกหนึ่งของประเทศต่างๆ คือการทำให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนลงเพื่อให้สินค้าที่ ส่งออกไปมีราคาถูก สอดคล้องให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ผมเปรียบเทียบค่าเงินสกุลของเอเชียก่อนและหลังสงครามการค้า พบว่าค่าเงินสกุลเอเชียอ่อนเฉลี่ย 3.6% ขณะที่ค่าเงินของอาเซียนอ่อนค่าอยู่ที่ 2.8% และเฉพาะจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย อ่อนค่าไป 4.4%

3.ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นกว่าในระยะที่ผ่านมา บริษัท "Morgan Stanley" คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 86 ดอลลาร์/บาร์เรล สอดคล้องกับนักวิเคราะห์ราคาน้ำมันว่ามีโอกาสไปอยู่ที่ 90 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากสหรัฐคว่ำบาตรอิหร่าน โดยถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 หรือแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (JCPOA) ซึ่งลงนามระหว่างอิหร่านและ P5+1 (จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมนี) เพื่อควบคุมอิหร่านเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แลกกับการผ่อนคลายการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาชาติ รวมทั้งการที่อิหร่านให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย (Fact Sheet:President Donald J.Trymp is Reimposing Sanction Lifted under the Horrible Iran Deal, issued on August 6,2018) โดยแยกเป็น 2 ส่วน คือ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและคว่ำบาตรการซื้อน้ำมัน

การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจประกอบด้วย 6 เรื่อง คือ 1.การซื้อหรือได้มาของธนบัตรดอลลาร์ 2.การค้าทองและโลหะมีค่าอื่นๆ 3.แกรไฟต์ อะลูมิเนียม เหล็ก ถ่านหิน และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในกระบวนการทางอุตสาหกรรม 4.การซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับเงินเรียล 5.กิจกรรมที่เกี่ยวกับการออกตราสารหนี้ของรัฐบาล และ 6.ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของอิหร่าน ส่วนการคว่ำบาตรน้ำมันประกอบด้วย 1.ผู้ประกอบการในส่วนท่าเรือ พลังงาน การขนส่งทางเรือ และการผลิตเรือ 2.การซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปิโตรเลียม และ 3.การติดต่อซื้อขายระหว่างองค์กรทางการเงินต่างชาติกับธนาคารกลางของอิหร่าน

นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับช่วงปีที่ผ่านมาส่วนแบ่งตลาดของไทยและอาเซียนเก่าในปัจจุบันลดลง ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของประเทศ CLMV เพิ่มขึ้นในตลาดโลก และเมื่อเทียบอัตราการขยายตัวการส่งออกของไทยกับอาเซียนในครึ่งปีแรก 2561 พบว่าอัตราการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่ 6 โดย สปป.ลาว มีอัตราการขยายตัวมากสุดของอาเซียน 24% ตามด้วยมาเลเซีย  CLMV มีอัตราการขยายตัวอยู่ระหว่าง  16-23%  ขณะที่อัตราการส่งออกของไทยอยู่ที่ 11% สำหรับทิศทางครึ่งปีหลังน่าจะมีโอกาสเป็นภาพเดียวกับครึ่งปีแรกครับ