posttoday

เทรนด์ดิจิทัลจีน การปรับตัวของไทย

04 สิงหาคม 2561

เป็นที่รู้กันดีว่า การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของประเทศจีน ปัจจัยหลักมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

โดย ปิยนุช ผิวเหลือง

เป็นที่รู้กันดีว่า การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของประเทศจีน ปัจจัยหลักมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่นอกเหนือจากเป็นประเทศผู้นำแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ ยังเป็นผู้นำเทคโนโลยียานยนต์อัจฉริยะที่โออีเอ็มให้หลายประเทศทั่วโลกด้วย

ปฐม อินทโรดม ที่ปรึกษา บริษัท ไอซีซี อินเตอร์เนชั่นแนล และอุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย เปิดเผยผ่านเสวนา“เทรนด์ดิจิทัลโลก VS จีน ในปี 2020 และก้าวต่อไปของวงการดิจิทัลไทย” ในงาน ETDA สู่ปีที่ 8 “Future Economy and Internet Governance : Big Change to Big Chance” ว่า การพัฒนาเทคโนโลยีของไทยยังตามหลังประเทศจีน เพราะประเทศไทยเชี่ยวชาญในการเปิดรับและใช้งานเทคโนโลยีมากกว่าการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง โดยสิ่งที่ไทยสามารถทำได้ในขณะนี้คือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีให้มากที่สุด

ภาพรวมตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย พบว่า 40% เป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ที่ค้าขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทยนิยมพูดคุยติดต่อกับผู้ขายก่อนซื้อสินค้า แม้ว่าจะมีการระบุรายละเอียดของสินค้าไว้ในโพสต์แล้ว ดังนั้นเทคโนโลยีแชตบอตยังสำคัญสำหรับตลาดอี-คอมเมิร์ซในไทย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอัจฉริยะ (เอไอ) ระดับเริ่มต้นช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้าและลูกค้า

ขณะที่การปรับใช้เทคโนโลยีบิ๊กดาต้าของไทย เพื่อใช้พยากรณ์ความต้องการซื้อสินค้าล่วงหน้าของผู้บริโภคผ่านพฤติกรรมในการซื้อสินค้าครั้งที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยเท่าที่ควร เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศไทยมีความต้องการเฉพาะแตกต่างกัน และการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ดังนั้นนอกจากการมีข้อมูลในมือแล้ว ผู้ประกอบการต้องเข้าใจตลาดและรู้จักปรับใช้ตามพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย

ทัศนัย เหมือนเสน อุปนายกสมาคมดิจิทัลไทย และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ JobBKK กล่าวว่า ปัจจุบันจีนกำลังเปลี่ยนผ่านจากยุคสังคมไร้เงินสดผ่านการชำระเงินในมือถือ ไปสู่ยุคสังคมไร้มือถือในการชำระเงิน คือ สามารถชำระเงินด้วยใบหน้า ซึ่งเทคโนโลยีสามารถระบุตัวตนได้ เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอีกขั้น ขณะที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด ทั้งนี้ มองว่าผู้ประกอบการและผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย ควรศึกษาเรื่องเทคโนโลยีอัจฉริยะ(เอไอ) เพื่อปูพื้นฐานความคิดของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับธุรกิจหรือองค์กร

ด้าน ธีริน วาณิชเสนี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อีทัช บริษัทในเครือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แนะนำการทำตลาดอี-คอมเมิร์ซว่า พฤติกรรมผู้บริโภคไทยและจีนมีความแตกต่างกัน ในฐานะผู้ประกอบการต้องพิจารณาว่าสินค้าของตนเองเหมาะกับแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซใด โดยยุคดิจิทัลในประเทศจีนก้าวหน้าเกินยุค 4.0 ไปแล้ว ขณะที่รูปแบบอี-คอมเมิร์ซในไทยยังมีความเชื่อมโยงของออฟไลน์และออนไลน์ ผู้ประกอบการจึงต้องพิจารณาว่าจะสามารถผสมผสานเทคโนโลยีอย่างไรให้เหมาะสมกับตลาดของตนเอง มหาวิทยาลัยจึงได้ร่วมมือกับอาลีบาบาพัฒนาหลักสูตร เพื่อยกระดับธุรกิจสู่แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซระดับโลก