posttoday

จับตาเหงะอาน นิคมฯใหม่เวียดนาม

21 กรกฎาคม 2561

เหงะอาน จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม

โดย ปิยนุช ผิวเหลือง

เหงะอาน จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ตั้งอยู่ตอนใต้ของฮานอย ห่างออกไป 290 กิโลเมตร มีประชากรทั้งสิ้น 3.2 ล้านคน เป็นวัยแรงงาน 1.9 ล้านคน ทั้งยังมีค่าแรงขึ้นต่ำถูกกว่าฮานอยและโฮจิมินห์

 

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลถึงความน่าสนใจในการเข้าไปลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในจังหวัดเหงะอาน ประเทศเวียดนาม ว่า จากปัจจัยพื้นฐานด้านค่าแรงขั้นต่ำ จำนวนแรงงานและทรัพยากรที่ยังสมบูรณ์ล้วนเป็นแรงดึงดูดให้เข้าไปลงทุน นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ ยังได้รับคำเชิญชวนของรัฐบาลเวียดนามให้พัฒนาพื้นที่ 2 หมื่นไร่ ในระยะเวลา 20 ปี แบ่งเป็นการพัฒนา 6 เฟส โดยเฟสแรกจะพัฒนาพื้นที่ 3,000 ไร่ แบ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ 500 ไร่ คาดจะเปิดดำเนิน การในไตรมาส 4 ของปี 2561

ทั้งนี้ จังหวัดเหงะอานมีศักยภาพในการลงทุนอันดับต้นๆ ของประเทศ รองจากฮานอยและโฮจิมินห์ โดยการเชื่อมโยงด้านระบบคมนาคม พบว่า เหงะอานอยู่ถัดจากทางหลวง 1A และทางรถไฟที่เชื่อมฮานอยและโฮจิมินห์ห่างจากสนามบินนานาชาติวินห์ 10 กิโลเมตร และอยู่ใกล้กับท่าเรือถึง 4 แห่ง ได้แก่ท่าเรือน้ำลึกเกื๋อหล่อและท่าเรือน้ำลึกอีก 3 แห่งที่อยู่ในแผน

นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลสนับสนุน มีแรงงานมากและค่าแรงถูกกว่าฮานอยและโฮจิมินห์ส่งผลให้ธุรกิจที่เหมาะสมในการเข้าไปลงทุนคือ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อาหาร เป็นต้น

จับตาเหงะอาน นิคมฯใหม่เวียดนาม

“เดิมเราพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย แต่ด้วยกระแสความเปลี่ยนแปลง ทำให้เราสนใจขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะซีแอลเอ็มวี ซึ่งมองประเทศเวียดนามเป็นที่แรก เนื่องจากเวียดนามเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ และมีอัตราการเติบโตของจีดีพีสูง” จรีพร กล่าว

อย่างไรก็ดี ดับบลิวเอสเอได้ศึกษาตลาดเวียดนามกว่า 2-3 ปีก่อนการตัดสินใจเข้าไปลงทุนจริง ซึ่งความท้าทายคือ ขั้นตอนการติดต่อทางราชการของเวียดนามยังล่าช้า แต่ยังอยู่ในขอบเขตที่สามารถรับมือได้ นอกจากนี้ยังมีแผนขยายธุรกิจด้านโลจิสติกส์และสาธารณูปโภคในซีแอลเอ็มวี เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

“การขยายการลงทุนด้านโลจิสติกส์ในซีแอลเอ็มวี โดยเฉพาะเมียนมาจะดำเนินการง่ายกว่าการขยายธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากการตั้งนิคมอุสาหกรรมเป็นเรื่องใหญ่กว่า ซึ่งหากนโยบายยังไม่นิ่ง ความลังเลในการดำเนินธุรกิจจึงเกิดขึ้น แต่ถึงอย่างไรมองว่าความเสถียรภาพเป็นเรื่องปกติของประเทศกำลังพัฒนาเหมือนกับประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน” จรีพร กล่าว

ทั้งนี้ แผนการพัฒนานิคมอุตสาห กรรมเหงะอานของดับบลิวเอชเอจะค่อยๆ พัฒนาพื้นที่ควบคู่กับการขายพื้นที่ โดยตั้งเป้ายอดขายในแต่ละปีไว้ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่