posttoday

เปิดเออีซี ดันจีดีพีอาเซียนโต

20 มิถุนายน 2561

ช่วงที่ตลาดการค้าหลักๆ ของโลกประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดในภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นตลาดสำคัญ

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ในช่วงที่ตลาดการค้าหลักๆ ของโลกประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดในภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นตลาดสำคัญ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศเกิดใหม่อย่างซีแอลเอ็มวี มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาลงทุนของทุนทั่วโลก และเมื่อมีการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (เออีซี) ก็ยิ่งหนุนให้เศรษฐกิจโดยรวมในภูมิภาคนี้ น่าสนใจยิ่งขึ้น

อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการประเมินการค้าการลงทุนในอาเซียนและซีแอลเอ็มวีหลังเข้ากลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2558 และคาดการณ์แนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า พบว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในกลุ่มอาเซียน จะขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2558 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 2.45 ล้านล้านดอลลาร์หรัฐ เป็น 2.76 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้น 3.09 แสนล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะขยายตัวเป็น 3.99 ล้านล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ หากดูเฉพาะกลุ่มประเทศ ซีแอลเอ็มวี ในอีก 5 ปีข้างหน้า จีดีพีเฉลี่ยของซีแอลเอ็มวีจะอยู่ที่ 6.8% โดยจีดีพีของเมียนมามีการขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่ค่าเฉลี่ยในกลุ่มประเทศอาเซียนเดิมขยายตัวอยู่ที่ 4.5% และหากเปรียบเทียบสัดส่วนจีดีพีในอีก 5 ปีข้างหน้า จีดีพีของซีแอลเอ็มวีจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 1.2% จากปี 2558 หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2.23 แสนล้านดอลลาร์

สำหรับมูลค่าการค้าภายในอาเซียน 6 ประเทศ หลังเปิดเออีซีภาษีเป็นศูนย์ในปี 2560 มีมูลค่าอยู่ที่ 5.13 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่า ในปี 2565 จะเพิ่มเป็น 6.36 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนมูลค่าการค้าในกลุ่ม ซีแอลเอ็มวีหลังรวมเออีซีปี 2560 อยู่ที่ 8.24 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.14 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม พบว่าสัดส่วนมูลค่าการค้าภายในอาเซียนระหว่างปี 2559-2560 อยู่ที่ 24.7% และคาดการณ์ว่าสัดส่วนการค้าในอาเซียนในอีก 5 ปีข้างหน้า (2561-2565) จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 24.8% ขณะที่สัดส่วนการค้านอกกลุ่มอาเซียน ปี 2559-2560 เท่ากับ 75.2% และจะเพิ่มเป็น 75.3% ในปี 2565

"จะเห็นว่าหลังเปิดเออีซีประเทศอาเซียนค้าขายกันเองน้อยลง แต่กลับมีการค้าขายนอกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น นั่นเพราะประเทศนอกอาเซียนมีกำลังซื้อมากกว่าประเทศในอาเซียนด้วยกัน โครงสร้างสินค้าส่งออกของอาเซียนมีลักษณะคล้ายกัน จึงทำให้เกิดการตัดส่วนแบ่งตลาดกันเอง และการที่เงินลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ที่เข้าในอาเซียน ส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนจากประเทศนอกอาเซียน ซึ่งมีการจูงใจให้ใช้สินค้าจากประเทศตัวเอง" อัทธ์ กล่าวที่สำคัญประเทศในอาเซียนเริ่มมีการใช้มาตรการกีดกันการค้า (เอ็นทีเอ็ม) ระหว่างกันมากขึ้น เช่น การกีดกันด้านการอำนวยความสะดวก การทุ่มตลาดและมาตรฐานสินค้าจาก 1,604 รายการ เพิ่มเป็น 5,975 รายการ โดยพบว่าอินโดนีเซียมีการใช้มาตรการกีดกันการค้ามากสุด นอกจากนี้การที่อาเซียนมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับประเทศนอกอาเซียนมากขึ้น จึงจูงใจให้เกิดการทำการค้ากับประเทศนอกอาเซียนมากขึ้นตามไปด้วย

อัทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อศึกษาลึกลงไปอีกจะพบว่าอาเซียนกำลังสูญเสียโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดซีแอลเอ็มวีให้กับจีนและเกาหลีใต้ที่กำลังมาแรง และมีบทบาทในภูมิภาคนี้มากขึ้นผ่านการเชื่อมโยงของอาเซียนบวก และกรอบการเจรจาการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดภาษีระหว่างกันให้มากที่สุด รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้า การลงทุน ทำให้ประเทศในอาเซียนหันมาค้าขายกับประเทศเหล่านี้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี หากมองเฉพาะไทยแล้วถือว่ายังไม่ได้หรือเสียส่วนแบ่งตลาดในซีแอลเอ็มวีไป แต่หากนิ่งเฉยปล่อยทิ้งไว้ก็อาจไม่เป็นผลดี โดยสินค้าไทยที่ยังมีโอกาสในเวียดนาม ได้แก่ ผลไม้ อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม และวัสดุก่อสร้าง ส่วนตลาด เมียนมา กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์ความงามยังเป็นโอกาสของไทยเช่นเดียวกับตลาด สปป.ลาว และกัมพูชา

อัทธ์ สรุปผลการศึกษาโดยรวมว่าการรวมกลุ่มเออีซีไทยจะได้ประโยชน์สูงสุดในด้านการค้า ขณะที่การลงทุนยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่และยังต้องแข่งขันสูง การเปิดเออีซีจึงเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของไทย