posttoday

การพัฒนา โทรคมนาคมในเมียนมา

16 มิถุนายน 2561

หลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เมียนมาเริ่มเปิดประเทศ สร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งด้านโทรคมนาคม

โดย ปิยนุช ผิวเหลือง

หลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เมียนมาเริ่มเปิดประเทศ สร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งด้านโทรคมนาคม ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการประกอบธุรกิจด้านอื่นๆ ซึ่งการเปิดรับผู้ลงทุนด้านโทรคมนาคมรายใหม่ๆ สร้างให้เกิดการแข่งขัน แนวโน้มอัตราค่าบริการในประเทศลดลง

นันทรัตน์ โล่ตระกูลวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายพาณิชย์ บริษัท เมียนมา อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ หรือ MIH และอนุกรรมการสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา (TBAM) เปิดเผยว่า การเปิดรับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายที่ 4 ช่วงกลางปีที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาด้านโทรคมนาคมในเมียนมา เนื่องจากเมื่อมีการแข่งขัน ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการในราคาที่ถูกลง เป็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้กับผู้บริโภค รวมถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น ในการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับธุรกิจของตนเอง เพื่อความสามารถในการให้บริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท MIH เข้ามาทำตลาด ด้านโทรคมนาคมในเมียนมา ช่วงปี 2557-2558 ปัจจุบัน MIH เป็นบริษัทไทยรายเดียวที่มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นของตนเองในพื้นที่ย่างกุ้ง โดยเลือกเข้ามาลงทุนในย่างกุ้ง เนื่องจากเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ แต่ยังขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม จึงต้องการเข้ามาพัฒนาเมียนมาให้เติบโตพร้อมๆ กับบริษัท โดยอนาคตจะขยายไปยังพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ที่สำคัญด้วย

การพัฒนา โทรคมนาคมในเมียนมา

“ช่วง 2 ปีเศษที่ได้เข้ามาทำงานในเมียนมา ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านโทรคมนาคมในทางที่ดีขึ้น ในอดีตเมียนมาผูกขาดการให้บริการด้านโทรคมนาคม โดยเอ็มพีทีรายเดียวกว่า 10 ปี หลังจากนั้นเปิดให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด โดยมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเป็น 3 ราย ประกอบด้วย เทเลนอร์ อูริดู และเอ็มพีที และในปี 2561นี้ เมียนมาเปิดรับผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย คือ มายเทล จากประเทศเวียดนาม ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี อุตสาหกรรมเกิดการแข่งขัน ผู้บริโภคย่อมได้รับประโยชน์ ในด้านการเข้าบริการด้วยราคาที่ถูกลง อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในการต่อยอดด้านดิจิทัล ซึ่งทุกวันนี้ราคาอินเทอร์เน็ตในเมียนมายังสูงกว่าไทยแต่ในอนาคตจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น”นันทรัตน์ กล่าว

สำหรับจุดเปลี่ยนสำคัญของบริการอินเทอร์เน็ตในเมียนมา คือ การมีบริการ 4จี ซึ่งสามารถเปลี่ยนผู้ใช้บริการ 2จี ให้หันมาใช้บริการอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยลักษณะการใช้งานอินเทอร์เน็ตของชาวเมียนมา จะใช้งานผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก และโซเชียลมีเดียยอดนิยมคือเฟซบุ๊ก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของวงการโทรคมนาคมในเมียนมานี้ นันทรัตน์ มองว่า มาจากการที่เมียนมาเปิดประเทศในช่วงที่เทคโนโลยีภายนอกพร้อม เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล นักลงทุนสนใจเข้ามาในประเทศเมียนมาจำนวนมาก เหลือเพียงแต่
ผู้บริโภคชาวเมียนมาต้องเปิดใจรับและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

ดังนั้น ปัจจัยสำคัญของการลงทุนด้านโทรคมนาคม ตลอดจนเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลผู้ประกอบการต้องเข้ามาทำธุรกิจควบคู่กับการพัฒนา ให้การศึกษาคนในประเทศ โดยแต่ละปีเมียนมามีบัณฑิตจบการศึกษาด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก แต่มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถทำงานได้ทันที MIH จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในเมียนมาสนับสนุนด้านความรู้และสิ่งอำนวยความสะดวกในมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษามีความพร้อมในการทำงานภายหลังจบการศึกษา