posttoday

เกมค้าปลีกสมัยใหม่ในเมียนมา

09 มิถุนายน 2561

โดย...Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

โดย...Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

ร้านค้าส่งและค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ในเมียนมาเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองมากขึ้นหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์เมียนมาได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2018 เรื่อง การผ่อนปรนกฎระเบียบการลงทุนจากต่างชาติให้สามารถถือครองสัดส่วนการลงทุนในบริษัทค้าส่งและค้าปลีกได้ 100% โดยยังคงมีข้อจำกัดของรูปแบบร้านค้าที่ต้องไม่ใช่ร้านค้าขนาดเล็กหรือร้านสะดวกซื้อที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 929 ตารางเมตร การผ่อนปรนข้อกำหนดดังกล่าวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับการลงทุนธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกในเวียดนามและไทย ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของประกาศนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีกในเมียนมาและคาดหวังให้ผู้บริโภคได้มีทางเลือกของสินค้าและบริการที่หลากหลายด้วยราคาที่เป็นธรรม

ความน่าสนใจของการลงทุนในเมียนมามีปัจจัยผลักดันมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม และกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยจากประมาณการของ Boston Consulting Group พบว่าสัดส่วนประชากรชนชั้นกลางของเมียนมาจะเพิ่มขึ้นจาก 9% ในปี 2012 เป็น 15% ในปี 2020 ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตอีกมากหากเทียบกับเวียดนามและไทยที่คาดว่าจะมีสัดส่วนประชากรชนชั้นกลางภายในปี 2020 ที่ราว 34% และ 72% ตามลำดับ รวมถึงโครงสร้างประชากรส่วนใหญ่ ยังอยู่ในวัยแรงงาน ส่งผลให้จีดีพีภาคค้าส่งและค้าปลีกในเมียนมาเติบโตได้โดยเฉลี่ยราวปีละ 8% ในช่วงปี 2012-2017

นอกจากนี้ สัดส่วนของธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกสมัยใหม่ต่ออุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีกยังอยู่ในระดับต่ำ เพียงแค่ราว 10% ทั้งนี้ แม้ว่าผู้บริโภคชาวเมียนมายังคงนิยมซื้อวัตถุดิบและอาหารสดผ่านตลาดหรือร้านโชห่วยเป็นหลัก แต่จากการเติบโตของกลุ่มคนวัยทำงานรุ่นใหม่ รวมถึงครัวเรือนที่มีกำลังซื้อมากขึ้นส่งผลให้แนวโน้มการซื้อสินค้าผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทต่างชาติได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคสมัยใหม่ (modern grocery store) อาทิ Aeon Co Ltd ที่ร่วมทุนกับ Creation Myanmar Group of Companies Limited ในปี 2016 เพื่อบริหารร้านซูเปอร์มาร์เก็ตในเมียนมา 14 สาขา และมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 10 แห่งภายในระยะเวลา 5 ปี

ในขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยหลายรายเริ่มศึกษาและมองหาโอกาสการเข้าไปลงทุนในเมียนมาเช่นกัน อย่างไรก็ดี บริษัทค้าปลีกเมียนมายังคงครองส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคสมัยใหม่มากที่สุด โดยเฉพาะ City Mart Holding Group ที่มีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีสาขาในหลากหลายรูปแบบทั่วเมียนมาราว 100 สาขา อย่างไรก็ตาม บริษัทค้าปลีกเมียนมามีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นหลังจากบริษัทต่างชาติ สามารถลงทุนในธุรกิจดังกล่าวได้เต็มรูปแบบ

อีไอซีมองว่าร้านค้าปลีกที่มีโอกาสเติบโตสูงคือรูปแบบมินิซูเปอร์มาร์เก็ตซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับร้านสะดวกซื้อแต่มีสินค้าหลากหลายกว่า และถึงแม้มีสินค้าอาหารสดไม่มากเท่าซูเปอร์มาร์เก็ตปกติ แต่ได้เน้นสินค้าประเภทอาหารในบรรจุภัณฑ์ และอาหารพร้อมทานแทน เพราะสอดคล้องกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มที่มีกำลังซื้อในเมียนมาซึ่งเน้นความสะดวกและชอบให้มีสินค้าให้เลือกอย่างหลากหลาย

ทั้งนี้ ความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเมียนมาจะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ โดยจากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเมียนมาในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ของ Deloitte พบว่าผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านรสชาติและคุณภาพมากขึ้นซึ่งสูงกว่าปัจจัยด้านราคา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ส่งผลให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทค้าปลีกยังมีโอกาสในการนำเสนอสินค้าตราห้าง (Private Label) ที่บริษัทผลิตขึ้นเองหรือจ้างผลิตซึ่งมีกำไรขั้นต้นสูงกว่าสินค้าทั่วไปในร้านค้าด้วย ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสินค้าจากบริษัทชื่อดังของโลกอย่าง Coca Cola, Unilever หรือ Nestle จะสามารถหาซื้อได้ในเมียนมา แต่จากรายงานของ Brandz พบว่า 32% ของสินค้าที่วางขายทั้งหมดในเมียนมาซึ่งมีทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ต่างประเทศยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในประเทศ เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ราว 16% สะท้อนว่ายังคงมีโอกาสในการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ให้ผู้บริโภคเมียนมาจดจำ โดยเฉพาะสินค้าจากไทยที่ชาวเมียนมาเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าและมีระดับราคาที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับสินค้าจากยุโรปหรือญี่ปุ่น

แม้ว่าโอกาสการลงทุนของธุรกิจค้าปลีกในเมียนมาจะเปิดกว้างขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญความเสี่ยงสำคัญประกอบไปด้วยความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่ง รวมถึงระบบไฟฟ้าที่ไม่เสถียรและไม่เพียงพอต่อการใช้งานซึ่งส่งผลกระทบต่อการเก็บรักษาสินค้าโดยเฉพาะอาหารสดหรืออาหารแช่แข็ง ซึ่งผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในการหาพันธมิตรบริษัทขนส่งของเมียนมาที่มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ รวมถึงพัฒนาระบบจัดการสินค้าคงคลังและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ