posttoday

มิชลินไกด์ ตอกยำไทย เจ้าภาพท่องเที่ยวเชิงอาหาร

26 พฤษภาคม 2561

อาหารไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ความหลากหลายของอาหารและความคุ้มค่า

โดย..ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

อาหารไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ความหลากหลายของอาหารและความคุ้มค่า จึงไม่แปลกใจที่อาหารไทยเป็นหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า จากกระแสของมิชลินไกด์กรุงเทพฯ ที่ออกมาและให้ดาวร้านอาหารไทยอย่างร้านเจ๊ไฝ ทำให้มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาไทยปักหมุดเพื่อไปลองชิมตามรอยมากมาย ททท.เองก็อยากเห็นการมีมิชลิน ไทยแลนด์ ออกมาให้ได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะเป็น
โอกาสของรัฐบาลที่จะใช้อาหารเป็นตัวนำการท่องเที่ยวทำให้เป็นการยกระดับอุตสาห กรรมอาหารของไทยตลอดทั้งซัพพลายเชน รวมทั้งยังเป็นการกระจายการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจลงไปยังจังหวัดเมืองรองต่างๆ

“คาดว่าการมีมิชลินไกด์จะช่วยเพิ่มรายได้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารจากการท่องเที่ยวจาก 20% เป็น 30% หรือมีมูลค่าเพิ่มจาก 6 แสนล้านบาท เป็น 8 แสนล้านบาท ภายในปี 2565” ยุทธศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ระหว่างนี้ ททท.มีแผนที่จะทำโครงการ “พรี มิชลิน” (Pre Michelin) ซึ่งจะมาช่วยให้ความรู้ในการบริหารจัดการแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งด้านวัตถุดิบและมาตรฐานร้านเพื่อเป็นการเตรียมตัวแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยจะทำพร้อมๆ ไปกับโครงการอาหารถิ่น รวมทั้งต่อยอดไปยังตลาดต่างประเทศ

ยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่กรุงเทพฯ ได้รับมิชลินไกด์ในปีที่แล้ว และมีร้านอาหารที่ได้รับ 2 ดาว 3 ร้าน และได้ทำการโปรโมทไปนั้น พบว่ามีนักท่องเที่ยวในกลุ่มใกล้ๆ เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน ให้ความสนใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยเพื่อชิมอาหารไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในปีนี้มิชลินเตรียมเปิดตัวคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พักฉบับปี 2562 โดยคู่มือฉบับใหม่นี้จะครอบคลุมพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ รวมถึงภูเก็ตและพังงาด้วย

จากศักยภาพที่กล่าวมาทำให้ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา “UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism ครั้งที่ 4”งานสัมมนาวิชาการด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารระดับนานาชาติครั้งแรกของเอเชีย เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทย โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้เลือกสำรวจเส้นทางอาหารผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก 4 เส้นทาง ได้แก่ บางรัก นางเลิ้ง ตรอกข้าวเม่า และพระนคร และเส้นทางอาหารผสมผสานกับวัฒนธรรมและชุมชนจาก 4 เส้นทาง ได้แก่ ตลาดพลู ตลาดน้อย กุฎีจีน และคลองบางหลวง

โอกาสนี้จึงเป็นประโยชน์ทางการค้า การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และยังเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหารระดับโลกให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นอีกด้วย