posttoday

CPTPP โอกาสการค้า ที่ไทยไม่ควรพลาด

09 พฤษภาคม 2561

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ข่าวสะเทือนวงการค้าโลกที่เป็นที่พูดถึงกันมากคงหนีไม่พ้นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ข่าวสะเทือนวงการค้าโลกที่เป็นที่พูดถึงกันมากคงหนีไม่พ้นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่ผลัดกันออกหมัด ออกมาตรการมาตอบโต้กัน ส่วนอีกข่าวที่มาแรงไม่แพ้กันคือ การลงนามความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) หรือทีพีพีเดิม ซึ่งเดินหน้าต่อโดย 11 ประเทศสมาชิกที่เหลือ

ประเด็นนี้กลายเป็นที่สนใจขึ้นมา หลังจากที่ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาสั่งให้กรมเจรจาการค้าต่างประเทศไปศึกษา พร้อมประกาศว่าไทยจะเตรียมตัวเข้าร่วมกับความตกลงที่ว่านี้เช่นกัน เพื่อไม่ให้ตกขบวนการค้านี้

อย่างไรก็ดี หลังจากที่หัวเรือใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกไป ทำให้ขนาดเศรษฐกิจและขนาดการค้าของซีพีทีพีพีมีขนาดเล็กลง แต่ในด้านของรายละเอียดข้อตกลงมีความผ่อนปรนและครอบคลุมมากขึ้น จึงทำให้หลายๆ ประเทศรวมทั้งไทยสนใจเข้าร่วมความตกลง

สำหรับความน่าสนใจของซีพีทีพีพีที่มีต่อไทยคือ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกซีพีทีพีพี 11 ประเทศ ในปี 2560 มีมูลค่า 134,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 29.3% ของการค้ารวมของไทย โดยไทยส่งออกไปซีพีทีพีพี 11 ประเทศ เป็นมูลค่า 70,300 ล้านดอลลาร์ หรือ 29.7% ของการส่งออกไทยไปโลก และไทยนำเข้าจากซีพีทีพีพี 11 ประเทศ เป็นมูลค่า 64,300 ล้านดอลลาร์ หรือ 28.9% ของการนำเข้าไทยจากโลก โดยไทย ได้เปรียบดุลการค้า 6,000 ล้านดอลลาร์

จากตัวเลขมูลค่าการค้าที่สูงนี้ จึงเป็นแรงดึงดูดให้ไทยมองเห็นถึงโอกาสทางการค้าในการเข้าร่วมกลุ่มซีพีทีพีพี และมีเป้าหมายจะเจรจาเข้าร่วมให้ได้ภายในปีนี้ เพื่อหวังผลประโยชน์จากการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกซีพี ทีพีพีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย และการเข้าร่วมซีพีทีพีพีจะช่วยดึงดูดการลงทุนต่างประเทศที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อ ส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งหากไทยไม่เข้าร่วมอาจเสียโอกาสตรงนี้ให้มาเลเซียกับเวียดนามไป

นอกจากนี้ ซีพีทีพีพีจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยจากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของซีพี ทีพีพีที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง ซึ่งการปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้จะเป็นผลบวกกับไทยในระยะยาว

อย่างไรก็ดี ข้อเสียจากการเข้าร่วมก็มีอยู่บ้าง โดยเฉพาะในภาคบริการและภาคเกษตรที่ไทยอาจต้องเปิดเสรีภาคบริการให้นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเกษตรที่อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลืองที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า

เป็นธรรมดาที่เมื่อมีความเปลี่ยน แปลงใดๆ เกิดขึ้น ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ การเข้ามาของซีพีทีพีพีก็เช่นกัน แต่ถ้ามองในระยะยาวการตัดสินใจเข้าร่วมซีพีทีพีพีน่าจะเป็นผลดีกับไทยมากกว่า เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่มากขึ้น และความคืบหน้าของซีพีทีพีพีจะกลายเป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างประเทศแบบพหุภาคี ซึ่งดีกว่าการปิดกั้นการค้า ส่วนคำถามที่ว่าข้อตกลงอะไรจะเดินหน้าไปถึงไหน ไทยจะเข้าร่วมซีพีที พีพีได้หรือไม่ คงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไปสำหรับปีนี้