posttoday

ความไม่สมดุล ปิดโอกาสแรงงาน

05 พฤษภาคม 2561

แรงงานไทยในอาเซียนมีโอกาสมากมาย เพราะได้ชื่อว่าเป็น “แรงงานฝีมือ”

โดย ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

แรงงานไทยในอาเซียนมีโอกาสมากมาย เพราะได้ชื่อว่าเป็น “แรงงานฝีมือ” ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ แต่ปัญหาหนึ่งของตลาดแรงงานไทยคือความไม่สมดุลในตลาดแรงงาน

ในงานสัมมนาวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประจำปี 2560 ได้มีการนำเสนองานวิจัยเรื่อง “ความไม่สอดคล้องกันในตลาดแรงงาน” โดย ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า สถานการณ์ความไม่สอดคล้องกันในตลาดแรงงานของประเทศมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากระดับการศึกษาและสาขาที่สำเร็จการศึกษาไม่ตรงกับงาน

จากงานวิจัยเผยว่า ประเทศไทยประสบปัญหาแรงงานทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาที่จบมาค่อนข้างมากโดยเฉพาะกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 2524-2528 ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 60%

นอกจากนี้ ยังพบว่าประเทศไทยมีการลงทุนด้านการศึกษาสูงถึง 5-6% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งมากเป็นท็อป 3 ของอาเซียน และมีการอนุมัติงบประมาณด้านการศึกษาถึง25% ของงบประมาณทั้งหมด

อย่างไรก็ดี นโยบายด้านการศึกษาและค่าจ้างแรงงานที่เปิดกว้างมีทั้งข้อดี ขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบในทางลบได้เช่นกัน โดยเฉพาะนโยบายการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาในทุกสาขา และการกำหนดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีที่ 1.5 หมื่นบาท/เดือน จึงทำให้คนอยากเรียนในระดับอุดมศึกษามากกว่าระดับอาชีวศึกษา รวมทั้งการเปิดกว้างในการสนับสนุนการศึกษา จึงทำให้เกิดการเรียนไม่ตรงสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ
ทั้งนี้ งานวิจัยยังระบุอีกว่า ปัญหาความไม่สมดุลในตลาดแรงงานลักษณะนี้ ระยะหลังๆ มักจะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา และนำไปสู่ผลลบต่ออัตราค่าจ้าง เนื่องจากผู้ที่ทำงานไม่ตรงสายที่เรียนจบมา มักได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าแรงงานที่จบตรง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มแรงงานอายุน้อย เนื่องจากมีการแข่งขันสูง
“ปัจจุบันแรงงานในประเทศไทยทำงานต่ำกว่าระดับที่จบมา และทำงานไม่ตรงสาขาที่เรียน ทำให้ค่าจ้างที่ได้รับต่ำกว่าคนที่จบตรง ซึ่งคิดว่ารัฐบาลควรหันกลับมาพิจารณาว่าควรใช้นโยบายด้านแรงงานและการศึกษาอย่างไรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพราะหากเปิดกว้างเกินไปอาจส่งผลกระทบต่ออัตราค่าจ้างและอาจเป็นตัวฉุดไม่ให้ไทยพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง” ศศิวิมล สรุปงานวิจัย
อย่างไรก็ดี แรงงานส่วนเกินระดับอุดมศึกษาที่มีอยู่มาก และปัญหาคุณภาพแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานไทยนั้น หวังว่าตลาดแรงงานอาเซียนที่ยังมีความต้องการจำกัดและยังมีความต้องการแรงงานคุณภาพอยู่นั้น น่าจะเป็นโอกาสของแรงงานไทยในระดับอุดมศึกษาที่จะออกไปแข่งขันในตลาดแรงงานอาเซียนได้