posttoday

แฟรนไชส์นานาชาติบุกโฮจิมินห์

19 เมษายน 2561

ด้วยศักยภาพของตลาดโฮจิมินห์ ดึงดูดนักลงทุนนานาประเทศ รวมถึงธุรกิจแฟรนไชส์ที่มุ่งสร้างการเติบโตควบคู่กับผู้ประกอบการท้องถิ่น

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

ด้วยศักยภาพของตลาดโฮจิมินห์ ดึงดูดนักลงทุนนานาประเทศ รวมถึงธุรกิจแฟรนไชส์ที่มุ่งสร้างการเติบโตควบคู่กับผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยผู้ลงทุนไม่ต้องสร้างความรู้จักแบรนด์ใหม่ ทั้งนี้ รี้ด เทรดเด็กซ์ ผู้นำการจัดงานแสดงสินค้าในอาเซียนเห็นช่องทางในตลาด จึงจัดงานช็อป แอนด์ สโตร์ เวียดนาม 2018 ขึ้นมา

รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ เปิดเผยว่า แฟรนไชส์เป็นโอกาสการลงทุนที่พิสูจน์มาแล้ว นักลงทุนไม่ต้องลองผิดลองถูกใหม่ และมีอัตราการตอบแทนสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นจำนวนมากสนใจลงทุนในกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อขยายสาขาในประเทศเวียดนาม ตลาดศักยภาพที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้การจัดงานช็อป แอนด์ สโตร์ เวียดนาม 2018 ของรี้ด เทรดเด็กซ์ เป็นการจัดงานที่ไม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตเป็นครั้งแรก โดยได้รวมงานเสวนาและบูธแฟรนไชส์ทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกัน ดึงดูดนักลงทุนท้องถิ่น ซึ่งเลือกจัดงานในเมืองโฮจิมินห์ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศเวียดนาม

“เวียดนามเป็นตลาดที่น่าสนใจเติบโตสูง คนสนใจมาทำแฟรนไชส์ที่นี่ เพราะกำลังซื้อสูง โดยกลุ่มเป้าหมายผู้เยี่ยมชมงานคือนักลงทุนท้องถิ่นที่มีเงินทุน และสนใจธุรกิจแฟรนไชส์ และกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของกิจการอยู่แล้ว แต่มองหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น” สุทธิศักดิ์ กล่าว

ขณะที่บูธแฟรนไชส์ในงานกว่า 70 แห่ง มาจากหลายประเทศ เช่น ชาพะยอมจากประเทศไทย เรดซันจากประเทศเกาหลี มินิโซจากประเทศจีน เป็นต้น โดยบรรยากาศการเจรจาธุรกิจภายในงาน มีผู้สนใจสอบถามการลงทุนแฟรนไชส์ชาพะยอม จำนวน 50 ราย สำหรับมินิโซสามารถปิดการขายภายในงานได้ 50 ร้านค้า แสดงให้เห็นถึงศักยภาพตลาดเวียดนาม แต่ถึงอย่างไรความเสี่ยงของธุรกิจแฟรนไชส์คือการควบคุมคุณภาพ การมีมาสเตอร์แฟรนไชส์ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เป็นทางออกหนึ่งที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจแฟรนไชส์

ด้านความท้าทายของการทำธุรกิจในเวียดนาม ได้แก่ ต้นทุนที่ดินราคาแพง เนื่องจากภูมิประเทศ 80% ไม่ใช่ที่ราบ ทำให้พื้นที่มีจำกัด แต่ความต้องการสูง ทำให้รัฐบาลมีนโยบาย Ring Road ห้ามคนต่างถิ่นอาศัยในฮานอยลดความแออัดของเมือง รวมถึงระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้โครงสร้างรายได้มีลักษณะรวยกระจุก จนกระจาย คล้ายคลึงกับประเทศไทย การเข้าไปลงทุนจึงต้องเลือกพื้นที่เมืองที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ฮานอยและโฮจิมินห์ แต่ถึงอย่างไรพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งสองพื้นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ต้องศึกษาก่อนลงทุน

“ผู้บริโภคโฮจิมินห์มีกำลังซื้อมากกว่าฮานอย โดยโฮจิมินห์มีไลฟ์สไตล์คล้ายๆ กรุงเทพฯ แต่ฮานอยจะอนุรักษนิยมมากว่า ขยันเก็บเงิน แต่ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจได้ ในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับด้านการเงิน หรือแพลตฟอร์มที่ช่วยเก็บเงิน ดังนั้นที่โฮจิมินห์จะเน้นอีโมชั่นในการขาย ใช้สินค้าแล้วผู้บริโภคดูดีอย่างไร ขณะที่ฮานอยเน้นมูลค่า” สุทธิศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ พบว่าธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี จากสภาพเศรษฐกิจ พฤติกรรมการจับจ่าย ประกอบกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเมื่อเทียบกับไทยพบว่าเวียดนามมีประชากรวัยทำงานมากกว่า ขณะที่ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของชาวเวียดนามที่เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาสให้กับธุรกิจหลายประเภท ซึ่งตลาดค้าปลีกของเวียดนามแบบดั้งเดิมและโมเดิร์นเทรดเติบโตควบคู่กันไป โดยมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ขึ้น

อนาคต รี้ด เทรดเด็กซ์ จะนำเทรนด์การจัดนิทรรศการและสัมมนาด้านดิจิทัลและอี-คอมเมิร์ซในเวียดนาม โดยกำลังหารือกับสมาคมอี-คอมเมิร์ซเวียดนามถึงรูปแบบการจัดงาน โดยมุ่งผลักดันแพลตฟอร์มการร่วมมือระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (บีทูบี) ของผู้ประกอบการ