posttoday

ความท้าทายโลจิสติกส์ ในยุคอี-เทรดดิ้ง

11 เมษายน 2561

การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่กำลังกลายเป็นเทรนด์การค้าที่สำคัญของโลกยุคใหม่ แม้ว่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจโลจิสติกส์

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่กำลังกลายเป็นเทรนด์การค้าที่สำคัญของโลกยุคใหม่ แม้ว่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจโลจิสติกส์ ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนที่อาจถูกสึนามิจากทุนจีนพัดตกขบวนไป

นั่นเพราะว่าการค้าของโลกจะทำการค้าผ่านอี-คอมเมิร์ซมากขึ้น และนำไปสู่การค้าบนโลกออนไลน์หรือ อี-เทรดดิ้ง ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงการนำเข้าและส่งออก ทำให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต้องเร่งปรับตัวให้ทัน

นพพร เทพสิทธา คณบดีกิตติคุณ วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ถอดรหัสสาเหตุของการจะเกิดสึนามิลูกใหม่ในวงการธุรกิจโลจิสติกส์ว่าส่วนหนึ่งมาจากการค้ารูปแบบอี-เทรดดิ้งจะเข้ามามีบทบาทมากและจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น เพราะจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการค้าโลกในอนาคต ดังนั้นประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) จึงต้องมีการลงนามร่วมกันในเรื่องของการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facibility) เพื่อให้การค้าสะดวกขึ้น

“เรื่องนี้จะกลายเป็นสึนามิลูกใหญ่ของประเทศไทย เพราะไทยยังไม่ตื่นตัวในการเข้าสู่การอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งอาจกลายร่างเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (เอ็นทีบี) และกลายเป็นกำแพงการค้าที่ทำให้ประเทศไทยถูกบีบให้ตกเป็นแค่ประเทศผู้จับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) เท่านั้น” นพพร กล่าว

เมื่อมีสึนามิเกิดขึ้น ย่อมมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก โดยเฉพาะนโยบาย Made in China 2025 รวมทั้งนโยบาย Belt and Road Initiatives (BRI) หรือเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในการเดินหน้าเปิดประเทศและขยายอิทธิพลของจีนในเวทีโลก

การเดินนโยบายดังกล่าวของจีนจะทำให้จีนกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของโลกในการแข่งขันด้านการขนส่งโลจิสติกส์ ที่ใช้ยุทธศาสตร์ BRI เชื่อมโลกเข้าด้วยกันเพื่อสู้กับสหรัฐ โดยเอาซัพพลายเชนนำดีมานด์ เห็นได้ชัดจากการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอยู่ในเส้นทางผ่านของยุทธศาสตร์ BRI

“แม้ว่าการขยายโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน ระบบรางจากจีนเชื่อมลงมาในอาเซียนจะเป็นประโยชน์ทำให้การเดินทางระหว่างกันสะดวกขึ้น แต่ก็เป็นอุปสรรคทางการค้าใหญ่ที่ใครก็สู้จีนไม่ได้ โดยเฉพาะไทยที่จีนมองว่าเป็นภูมิภาคหนึ่งของจีน ทำให้มีการส่งทั้งคนและสินค้าเข้ามาทำการค้าและท่องเที่ยว รวมทั้งจีนยังมีความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่ภาษีเป็นศูนย์ และจะเริ่มเห็นชัดเรื่อยๆ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า” นพพร ชี้ให้เห็นถึงสึนามิอีกลูกที่เริ่มก่อตัวขึ้น

สึนามิลูกสุดท้ายที่นพพรมอง คือ การพัฒนาของดิจิทัลและเทคโนโลยีที่จะทำให้ธุรกิจทั้งหลายถูกผูกขาดอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัล หากใครไม่อยู่ในระบบดิจิทัลก็จะถูกผลักออก ทำให้ธุรกิจรายย่อยที่ไม่มีแพลตฟอร์มของตัวเองทำได้แค่เป็นผู้รับจ้างทำโลจิสติกส์ และจะถูกบีบให้อยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันด้านราคา (เรดโอเชียน)

บนโลกของการแข่งขันในยุคโลกอัจฉริยะ (สมาร์ทเวิลด์) และเป็นการแข่งขันกันในระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ต้องเร่งปรับตัวตามให้ทัน