posttoday

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โอกาสในสิงคโปร์

31 มีนาคม 2561

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่ได้มีการผลิตอาหารเองมากนัก ผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศกว่า 90%

โดย ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ไม่ได้มีการผลิตอาหารเองมากนัก ผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศกว่า 90% ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งไทย อย่างไรก็ดีสิงคโปร์เป็นหนึ่งในผู้นำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียที่นำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการแปรรูป โดยเฉพาะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ประเทศสิงคโปร์ แจ้งว่า ในปี 2558 สิงคโปร์นำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 30.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ผสมไข่ มูลค่า 15.31 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในสิงคโปร์คาดว่าจะเติบโตขึ้นมากกว่านี้ การนำเข้าของสิงคโปร์ไม่เฉพาะสำหรับการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น ยังใช้สำหรับการส่งออกต่อ (Re-export) ไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียด้วย

ทั้งนี้ การนำเข้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของสิงคโปร์ ส่วนใหญ่จะนำเข้าสินค้าจากมาเลเซีย จีน เกาหลีใต้ และไทย เป็นหลัก โดยนำเข้าแบรนด์ต่างๆ เช่น Indome, Mamee, Nong Shim, Maggi,Ottogi,Samyang, มาม่า และไวไว

ปัจจุบันผู้บริโภคในสิงคโปร์มีความนิยมในการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้น จากรายงานของซูเปอร์มาร์เก็ต FairPrice ซูเปอร์ชั้นนำในสิงคโปร์ ที่เปิดเผยว่า อัตราการจำหน่ายบะหมี่สำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 10% สูงขึ้นจาก 3% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับความนิยมในการซื้อเปลี่ยนจากการซื้อแพ็กเล็กเป็นแพ็กใหญ่ เพื่อความคุ้มค่า และนิยมใช้แบบซองมากกว่าแบบถ้วย และนิยมซื้อผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากมีการให้บริการสั่งซื้อผ่านออนไลน์และส่งให้ถึงบ้าน

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โอกาสในสิงคโปร์

 

นอกจากนี้ การที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก มีการแข่งขันในประเทศสูง ประชาชนมีการใช้วิถีชีวิตอย่างเร่งรีบ ต้องแข่งกับเวลา อาหารสำเร็จรูป รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นตัวเลือกสำคัญในการดำเนินชีวิตของคนสิงคโปร์ เนื่องจากราคาประหยัดและรวดเร็วในการปรุง อีกทั้งไม่เสียเวลาในการทำความสะอาดหลังรับประทานเสร็จแล้ว อย่างไรก็ดีผู้บริโภคมีความรู้ด้านโภชนาการเพิ่มขึ้น จึงปรับเปลี่ยนไปเลือกซื้อบะหมี่สำเร็จรูปที่ให้สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

สำหรับโอกาสทางการค้าของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไทยในสิงคโปร์นั้นมีมาก เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยมของชาวสิงคโปร์ ด้วยรสชาติที่มีความเป็นอาหารไทย ประกอบกับชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่นิยมอาหารที่ทำสำเร็จรูปแล้ว เนื่องจากชาวสิงคโปร์ทำงานหนักจึงไม่ค่อยมีเวลาทำกับข้าว หรืออาจไปทานข้าวนอกบ้าน จึงทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยมีโอกาสที่จะเติบโตในสิงคโปร์เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่สำคัญ คือ ตลาดสิงคโปร์เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง ซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่และผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นผู้ควบคุมตลาดค้าปลีกส่วนใหญ่ โดยแบ่งกลุ่มตลาดค้าปลีกตามรูปแบบของร้าน และกลยุทธ์การขายสินค้าที่มีเป้าหมายต่างกัน เช่น การเน้นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้แตกต่างกัน รวมถึงกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักอยู่ในสิงคโปร์ ค่าใช้จ่ายสำหรับการทำตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย ที่สำคัญผู้ประกอบการจำเป็นต้องสร้างความโดดเด่นและความแตกต่างให้กับแบรนด์สินค้า