posttoday

SME เวียดนาม เปิดรับทุนไทย

28 กุมภาพันธ์ 2561

การลงทุนจากต่างชาติในเวียดนามไม่ได้จำกัดเพียงแค่โครงการลงทุนขนาดใหญ่เท่านั้น

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

การลงทุนจากต่างชาติในเวียดนามไม่ได้จำกัดเพียงแค่โครงการลงทุนขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีโอกาสสำหรับนักลงทุนขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วย โดยเฉพาะในโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเวียดนาม ตลอดจนความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจทั้งธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ

เหงียน ธิ บิ๋ค ฮ่าง ตัวแทนจากสมาคมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม บอกว่า นักธุรกิจรุ่นใหม่ของเวียดนามสามารถเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยได้เป็นอย่างดี เพราะนักธุรกิจไทยมีศักยภาพในการลงทุนด้านธุรกิจการเกษตรและการแปรรูปการเกษตร ซึ่งเวียดนามยังใช้เทคโนโลยีในรูปแบบเก่า ประกอบกับการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดังนั้นจึง เป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทยที่มีประสบการณ์และวิทยาการในการส่งออกเทคโนโลยีการเกษตรระดับกลาง-สูง ภายใต้นโยบาย "Thailand 4.0" ซึ่งสอดคล้องกับ "นโยบายอุตสาหกรรม 4.0" ของเวียดนาม

นอกจากนี้ ในด้านของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการก็เป็นอีกธุรกิจที่เวียดนามกับไทยจะร่วมมือกันได้ เพราะภาคการท่องเที่ยวในภาคใต้ของเวียดนามยังมีโอกาสและช่องทางในการลงทุนอีกมาก ซึ่งสามารถเชื่อมโยงดึงดูดนักท่องเที่ยวนอกภูมิภาคได้โดยง่าย ขณะที่ธุรกิจการค้าปลีกก็มีโอกาสสูง เนื่องจากชาวเวียดนามนิยมบริโภคสินค้าไทย เพราะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มีราคาที่เหมาะสม และกระแสความนิยมสินค้าไทย รวมถึงการมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม จึงเป็นจุดที่ผู้ประกอบการไทยได้เปรียบ

ฮ่าง บอกอีกว่า ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นอีกตัวที่น่าสนใจเพราะจากพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเวียดนามที่ชอบลองของใหม่ จึงทำให้แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ โดยเฉพาะกลุ่มร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดและกาแฟขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจะเห็นว่าในเวียดนามมีแฟรนไชส์ร้านอาหารจากญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย รวมทั้งแฟรนไชส์ร้านกาแฟชื่อดังอย่างสตาร์บัคส์ผุดขึ้นทั่วเมือง

"ลึกๆ แล้ว นอกจากธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารและเครื่องดื่มแล้ว คนเวียดนามมองไปไกลกว่านั้น เช่น แฟรนไชส์ธุรกิจร้านเฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง ตกแต่งภายใน เสื้อผ้าเด็กและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นที่ต้องการและนิยมในเวียดนาม เนื่องจากคนเวียดนามมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาและคุณภาพสูงขึ้นได้ และยังมีความต้องการในทุกระดับชั้น ซึ่งผู้ประกอบการเวียดนามน่าจะสามารถจับคู่ธุรกิจกับไทยเพื่อร่วมกันโตได้" ฮ่าง กล่าว

ทั้งนี้ สมาคมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนามนั้น เป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาล จึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเวียดนาม ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 500 ราย ครอบคลุม 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ กลางและเล็ก และมีไม่น้อยที่สนใจซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศเพื่อเข้ามาทำตลาดในเวียดนาม

ฮ่าง บอกอีกว่า การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้โครงสร้างพื้นฐานของโฮจิมินห์ตามไม่ทัน จึงต้องลงทุนเพิ่ม แต่ทุกคนต้องยอมรับว่าเวียดนามและโฮจิมินห์เปลี่ยนเร็วมาก ซึ่งการมาร่วมมือกันกับผู้ประกอบการไทยนั้น สำคัญต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า คนเวียดนามต้องการอะไร อยากได้อะไร ส่วนเรื่องกฎระเบียบก็สามารถปรึกษากันได้ เพราะตลาดเวียดนามถ้าศึกษาให้ดี ให้ถูกจะทายง่ายมาก เพราะอะไรมาใหม่ก็ดัง เนื่องจากคนเวียดนามเปิดรับง่าย แต่หลังจากนั้นจะทำอย่างไรให้ยืนอยู่ได้มากกว่า

อย่างไรก็ดี ฮ่างยอมรับว่า ผู้ประกอบการเวียดนามเองก็ต้องสู้กับความเสี่ยงจากความเนื้อหอมที่จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาแข่งขันด้วย เพราะถ้าไม่แข็งแกร่งพอก็ล้มตายไปได้เหมือนกัน แต่ต้องบอกว่า "เราไม่กลัว เพราะเอสเอ็มอีเวียดนามขยัน อดทนและพร้อมรับมือกับการแข่งขัน" ในทางตรงข้าม กลับมองว่า นั่นเป็นโอกาสที่ทำให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีและเข้าใจโลกธุรกิจมากขึ้น ทำให้วันนี้เอสเอ็มอีเวียดนามไม่ใช่แค่ลงทุนในประเทศ แต่กล้าออกไปลงทุนทั่วโลก