posttoday

มาตรการภาษี อาเซียนกับสินค้าเกษตร (1)

27 มกราคม 2561

จากงานสัมมนา “แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

โดย ปิยนุช ผิวเหลือง

จากงานสัมมนา “แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลเกี่ยวเนื่องกับความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของไทยและเพื่อนบ้าน พบว่ามีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน

เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย บอกว่า เมื่อศึกษาผลกระทบด้านภาษีต่อเศรษฐกิจมหภาคระหว่างอาเซียนอย่างละเอียด พบว่าการปรับปรุงด้านขนส่งทางบกในอาเซียนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคมากกว่าการลดภาษีระหว่างกันเป็น 0% เนื่องจากที่ผ่านมามีการลดภาษีเป็น 0% ในสินค้าส่วนใหญ่แล้วเหลือเพียงสินค้าอ่อนไหวบางรายการ ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ แต่ถึงอย่างไรการลดการกีดกันทางภาษีสินค้าทั้งหมด ย่อมส่งผลดีเช่นกัน แต่อาจไม่สูงเท่าการพัฒนาเส้นทางขนส่งทางบก เพราะยังต้องพัฒนาอีกมาก

มาตรการภาษี อาเซียนกับสินค้าเกษตร (1)

สำหรับรายละเอียดที่ทีดีอาร์ไอได้ศึกษา พบว่าอาเซียนมีข้อตกลงทางการค้าร่วมกันอยู่ เรียกว่า ATIGA (ASEAN Trade In Goods Agreement) ซึ่ง ATIGA ระบุถึงสินค้าที่อยู่ในรายการลดภาษีว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ (บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) ต้องยกเลิกอัตราภาษีศุลกากรภายในปี 2553 และสมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม) ต้องยกเลิกอัตราภาษีศุลกากรภายในปี 2558 ซึ่งอาจมีสินค้าจำนวนหนึ่งที่สามารถผ่อนผันได้คิดเป็น 7% ของสินค้าทั้งหมด สำหรับสินค้าที่อยู่ในรายการสินค้าอ่อนไหว สมาชิกอาเซียนต้องลดอัตราภาษีศุลกากรเหลือไม่เกิน 5% ซึ่งสมาชิกอาเซียนเดิมต้องลดให้ได้ภายในปี 2553 และสมาชิกอาเซียนใหม่ต้องลดให้ได้ภายในปี 2560

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติจริง พบว่าประเทศสมาชิกอาเซียนเดิมดำเนินตามระเบียบที่ตกลงไว้ แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่  โดยเฉพาะกัมพูชาและ สปป.ลาว ยังมีสินค้าที่ภาษีไม่เป็น 0% และไม่เป็นไปตามข้อตกลงจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในรายการลดภาษี ซึ่งกัมพูชามีรายการสินค้าที่ไม่เป็นตามข้อตกลง 84.31% มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และ สปป.ลาว มีสินค้าที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงประมาณมากกว่า 60%

มาตรการภาษี อาเซียนกับสินค้าเกษตร (1)

ทั้งนี้ นักวิชาการแนะนำให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศต่อรองด้านภาษีศุลกากรใน 2 แนวทาง ทั้งการผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ลดภาษีตามข้อตกลง ATIGA และการผลักดันให้ประเทศภาคีนำสินค้าที่ยังไม่อยู่ในรายการลดภาษีเข้ามาอยู่ในรายการลดภาษี

นอกจากนี้ ยังควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์การใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอแก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากยังมีการใช้สิทธิในการส่งออกน้อยมาก อีกทั้งแนะนำให้จัดทำเว็บไซต์แบบ One-Stop Service ที่ใช้ง่ายและมีข้อมูลอัตราภาษีและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงต่างๆ รายประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยและอาเซียน