posttoday

พูเทรา ซัมโปน่า นักบุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคมอินโดนีเซีย

19 มกราคม 2561

ธุรกิจเพื่อสังคมอาจเป็นโมเดลใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก และอาจเป็นคำศัพท์ทางธุรกิจใหม่ของใครหลายคน

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

ธุรกิจเพื่อสังคมอาจเป็นโมเดลใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก และอาจเป็นคำศัพท์ทางธุรกิจใหม่ของใครหลายคน ทว่าชายผู้นี้ได้บุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคมมาเกือบ 2 ทศวรรษเข้าไปแล้ว เขาก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมเมื่อปี 2543 ในประเทศที่มีรายได้น้อยเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ด้วยความหวังเดียวคือ "พรุ่งนี้ที่ดีกว่าของอินโดนีเซีย"

พูเทรา ซัมโปน่า เป็นบุตรชายของมหาเศรษฐี ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์บุหรี่ดังอย่าง "ซัมโปน่า" เขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของวัยเด็กศึกษาอยู่ในต่างประเทศทั้งทวีปเอเชียและทวีปยุโรป ทำให้เขาได้มองเห็นโลกกว้างและโอกาสอันมากมายที่เปิดประตูรอประเทศของเขาอยู่ หลังจากที่ครอบครัวขายธุรกิจบุหรี่ เปลี่ยนมือไปยังนายทุนหน้าใหม่ด้วยมูลค่าประมาณ 1.89 แสนล้านบาท พูเทราเลือกที่จะเริ่มต้นธุรกิจเพื่อสังคมในวันที่มีชาวอิเหนาเพียงไม่กี่หยิบมือที่เข้าใจความหมายแท้จริง

"กำไรไม่ใช่เป้าหมายในการทำธุรกิจ แต่คือการแก้ปัญหาสังคมและแสวงหารายได้อย่างยั่งยืน" พูเทราได้ฉายภาพให้เห็นเป้าหมายของกิจการเพื่อสังคม

พร้อมขยายความว่า ธุรกิจต้องเน้นไปที่การแก้ปัญหาสังคม พร้อมกับพัฒนาสังคมในเวลาเดียวกันด้วยการใช้แนวคิดทางการตลาดเข้ามาผสมผสาน เพื่อนำไปสู่รูปแบบงานบริการหรือสินค้ารูปแบบใหม่ที่สามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องตราบเท่าที่สังคมยังคงมีปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ไข

มูลนิธิพูเทรา ซัมโปน่า ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อมุ่งแก้ปัญหาทางสังคมควบคู่ไปกับการวางรากฐานให้ประเทศผ่านการผลิตเลือดใหม่ที่มีคุณภาพพอที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำขับเคลื่อนบ้านเมืองในอนาคต กิจการของเขาจึงเน้นไปที่ด้านการศึกษา มูลนิธิแห่งนี้ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนกว่า 800 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งทุนและจัดทำโปรแกรมด้านการศึกษา

พูเทรา จึงได้ก่อตั้งโรงเรียนซัมโปน่าขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียน ผู้มีรายได้น้อย พร้อมกับฟูมฟักประชากรอายุน้อยจำนวนมากที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นไม่นานเขาตัดสินใจลงทุนเปิดมหาวิทยาลัยซัมโปน่าในเมืองจาการ์ตา ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของกิจการเพื่อสังคมที่เขาปั้นมากับมือ

มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตอบโจทย์ดีมานด์การศึกษาในประเทศที่มีฐานประชากรจำนวนมาก โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชื่อดังทั่วโลก เช่น มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เพื่อขอรับรองหน่วยกิตการศึกษาระดับปริญญาตรี ทำให้เด็กชาวอินโดนีเซียสามารถศึกษา 2 ปีแรกในมหาวิทยาลัยพูเทราได้ ก่อนไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยปลายทางในประเทศต่างๆ อีก 1-2 ปี เพื่อรับใบปริญญา เปรียบได้กับทางลัดเพื่อไปสู่ความฝันของเด็กอิเหนาจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาเพื่อไปทำการ Work & Travel ในหลายประเทศทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่โมเดลนี้จะได้รับความนิยมและเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากครอบครัวชนชั้นกลางชาวอินโดนีเซีย ในขณะเดียวกันพูเทรายังคงมีออปชั่นทุน ทางการศึกษามากมายให้กับผู้ด้อย โอกาสของประเทศ

พูเทรา ได้ทิ้งท้ายด้วยการบอกเหตุผลว่า ทำไมอินโดนีเซียถึงต้องลงทุนกับเลือดใหม่ว่า จีดีพีของอินโดนีเซียโตติดอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยความโชคดีที่ดีมานด์ของเราเพียงพอจนไม่ต้องพึ่งพาการส่งออก และเมื่อประชากรคือ "สินทรัพย์" การศึกษาจึงถือเป็นพลังขับเคลื่อนในการวางฐานรากหรือมีบุคลากรรุ่นใหม่ที่ดี มีคุณภาพ และนั่นคือโอกาสของกิจการเพื่อสังคม