posttoday

อี-คอมเมิร์ซ อินโดนีเซียบูม

30 ธันวาคม 2560

ตลาดอี-คอมเมิร์ซมีแนวโน้มขยายตัวทั่วโลกรวมทั้งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอินโดนีเซียถือเป็นตลาดอี-คอมเมิร์ซที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ตลาดอี-คอมเมิร์ซมีแนวโน้มขยายตัวทั่วโลกรวมทั้งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอินโดนีเซียถือเป็นตลาดอี-คอมเมิร์ซที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน เนื่องจากมีการสำรวจพบว่าผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่มีการใช้บริการซื้อของผ่านระบบออนไลน์ จึงทำให้เกิดทั้งโอกาสและการแข่งขันที่สูง

สิริบุษย์ อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ในยุคที่คนสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนได้ง่ายขึ้น คนในยุคนี้จึงหันมาค้นหาข้อมูลผ่านทางออนไลน์กันมากขึ้น เพราะง่ายและสะดวกไม่จำเป็นต้องสอบถามจากเพื่อน ครอบครัว หรือพนักงานขายเหมือนแต่ก่อน ทำให้พฤติกรรมของ ผู้บริโภคเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียที่มีแนวโน้มเข้าสู่สังคมเมือง มีไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองมากขึ้น รวมทั้งกำลังซื้อที่มีเพิ่มขึ้น จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในอินโดนีเซียเติบโตอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ Shop Back indosia พบว่า 2 ใน 5 ของ ชาวอินโดนีเซียสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ หลังจากเห็นสินค้าในร้านค้าอื่นๆ ตามสถานที่ต่างๆ และส่วนใหญ่จะเป็น กลุ่มผู้หญิง นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียจำนวนมากเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะการซื้อผ่านอี-คอมเมิร์ซมักมีส่วนลดพิเศษ และบางครั้งมีบริการจัดส่งสินค้าให้ฟรี

อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียกลายเป็นตลาดโมบาย- คอมเมิร์ซ (เอ็ม-คอมเมิร์ช) ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เนื่องมาจากกำลังซื้อของกลุ่มชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ปัจจุบันอินโดนีเซียยังเป็นตลาดเอ็ม-คอมเมิร์ช ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลกรองจากจีนและอินเดียอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงอี-คอมเมิร์ซ เกมออนไลน์ และการโฆษณาออนไลน์ พบว่าจะ เพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568 โดยตลาดดิจิทัลของ อินโดนีเซียคิดเป็น 40.5% ของ มูลค่ารวมของตลาดในภูมิภาคนี้ หรือมีมูลค่า 8.1 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยอี-คอมเมิร์ซมีส่วนแบ่งมากที่สุดประมาณ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์

"ร้านค้าและบริษัทค้าปลีกแบบดั้งเดิมในอินโดนีเซียที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางการค้าสมัยใหม่ และยังคงความคิดทางธุรกิจแบบเดิม อาจต้องเจอกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการแข่งขันที่รุนแรงของร้านค้าออนไลน์ หรือธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ" สคร.กรุงจาการ์ตา ระบุ

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ณ กรุงจาการ์ตา ให้ข้อมูลต่อว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และเอ็ม-คอมเมิร์ซของอินโดนีเซีย มีศักยภาพมาก โดยได้รับแรงสนับสนุนจากจำนวนประชากรในประเทศ การขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลาง สมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้น และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายและรวดเร็ว ทำให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซและเอ็มคอมเมิร์ซของอินโดนีเซีย ขยายตัวอย่างมาก นับเป็นโอกาสทาง การค้าที่สำคัญ เป็นตลาดใหญ่ที่ ประเทศต่างๆ จับตามองและพยายามเข้ามาเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศ

อย่างไรก็ดี ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังพิจารณาการจัดเก็บภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้า มาเพื่อจำหน่ายสินค้าออนไลน์ในอินโดนีเซีย เนื่องจากการไหลเข้าของสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมากกระทบต่อร้านค้าปลีกและอี-คอมเมิร์ซในประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่สนใจจึงควรศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตามข่าวสาร ศึกษาตลาด และความต้องการของผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้พลาดโอกาส