posttoday

บี.กริม เพาเวอร์ กรีนโซลาร์บุกอาเซียน

21 ตุลาคม 2560

รัฐบาลทุกประเทศต่างให้ความ

โดย พพพพพพพพพพพ

รัฐบาลทุกประเทศต่างให้ความสำคัญการวางนโยบายพลังงานชาติ ทั้งการผลิตใช้ภายในประเทศอย่างเพียงพอ การสำรองจ่ายกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงการส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศ เพราะเสถียรภาพด้านพลังงานเป็นอีกตัวชี้วัดเสถียรภาพการบริหารจัดการของรัฐบาลประเทศนั้นด้วย

ทั้งนี้ รูปแบบการผลิตพลังงานไฟฟ้า ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะการใช้ก๊าซ นิวเคลียร์ ถ่านหินที่มีต้นทุนการผลิตค่อนข้างต่ำเท่านั้น แต่เทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เปลี่ยนรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานน้ำ ลม เป็นต้น ซึ่งเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชน มีส่วนร่วมในการผลิตและจำหน่ายมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน เช่นเดียวกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เป็นบริษัทเอกชนผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ที่เน้นการผลิตไฟฟ้าจากโรงงานพลังงานความร้อนร่วมกับพลังงานหมุนเวียน อย่างพลังงานน้ำ ซึ่งใช้พลังงานกระแสไฟฟ้าพร้อมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโลก

ปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ สะท้อนภาพการเติบโตด้านพลังงานของชาติอาเซียนว่า การเปิดประเทศของสมาชิกอาเซียนด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว หลายประเทศอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ การวางรากฐานด้านพลังงานให้กับประเทศตัวเอง โดยเปิดกว้างให้กับบริษัทต่างชาติเข้าลงทุน

ทั้งนี้ แผนกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศของบริษัท กับกลุ่มประเทศกัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เน้นความร่วมมือกับพันธมิตรใน 2 รูปแบบ คือ ความร่วมมือระหว่างบริษัทกับรัฐบาล (บีทูจี) และบริษัทกับบริษัทเอกชนท้องถิ่น (บีทูบี) เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันให้มีความแข็งแกร่งในแต่ละประเทศ

“ภาครัฐและเอกชนในอาเซียนหลายประเทศชักชวนให้ บี.กริมเข้าไปลงทุน บริหารจัดการให้ สะท้อนได้ว่าแบรนด์มีความแข็งแกร่งและได้รับความเชื่อถือ หลายประเทศที่เข้ายากและเนื้อหอมเป็นที่ต้องการของนักลงทุน แต่กลับติดต่อให้บริษัทเข้าไปลงทุนด้วย พิสูจน์ได้ว่าแบรนด์บริษัทเป็นที่ยอมรับในวงการพลังงาน” ปรียนาถ  กล่าว

สำหรับแผนขยายการลงทุนในอาเซียน ปัจจุบันขยายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานใน สปป.ลาว จำนวน 8 โรง  เช่น แขวงจำปาสัก แขวงเชียงขวาง เป็นต้น โดยใน สปป.ลาว จะมีกำลังการผลิตทั้งหมด 102.6 เมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศเวียดนามได้ร่วมมือกับบริษัทเจ้าของโรงงานน้ำตาลร่วมลงทุน คาดว่าจะเดินเครื่องผลิตประมาณปี  2562 เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซียขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรที่เหมาะสม  

 อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 2,357 เมกะวัตต์ โดยแผนในช่วง 3-5 ปีนี้ เน้นขยายการลงทุนในชาติอาเซียน รวมถึงการหาพันธมิตรในประเทศไทยด้วย โดยสัดส่วนการลงทุนในประเทศเฉลี่ย 70% และชาติอาเซียนอีก 30% โดยแผนการลงทุนในประเทศ เตรียมขยายฐานกลุ่มลูกค้าหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งล่าสุดบริษัทได้ลงนามลงทุนร่วมกับองค์การทหารผ่านศึก ดำเนินธุรกิจร่วมกัน เพื่อแบ่งผลกำไร 17% ของรายได้ทั้งหมดต่อปี เข้าสมทบกองทุนช่วยเหลือทหารที่ได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

ปรียนาถ บอกอีกว่า บริษัทตั้งเป้าเป็นแบรนด์ผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มซีแอลเอ็มวี โดยการสร้างภาพลักษณ์เมื่อนึกถึงการลงทุนด้านพลังงานนักลงทุนจะเลือกร่วมเป็นพลาสเนอร์กับบริษัทก่อน ปรียนาถ กล่าวทิ้งท้าย