posttoday

เจาะความร่วมมือ เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน

13 กรกฎาคม 2560

รัฐบาลแต่ละประเทศต่างตระหนักถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

รัฐบาลแต่ละประเทศต่างตระหนักถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น เพื่อสร้างกลไกประสานงานระหว่างภูมิภาค เป็นจุดกำเนิดความร่วมมืออาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี หรืออาเซียนบวก 3 เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต และสร้างหลักประกันทางเศรษฐกิจ

การประชุมเอเชียโป๋อ่าว เป็นการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 15 โดยไทยได้รับเลือกในการจัดงานครั้งแรก ในหัวข้อ ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชีย : ความท้าทายใหม่ และแนวคิดใหม่ ซึ่งภายในงานมีเสวนาย่อยเรื่องเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน กล่าวถึงการพัฒนาที่แตกต่างจากเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น รวมถึงสิทธิประโยชน์และการ ขับเคลื่อนไปสู่การรวมตัวที่แข็งแกร่งของชาติสมาชิก

ทั้งนี้ จีนและอาเซียนได้ยกระดับความร่วมมือทางการค้ากว่า 10 ปี ได้เจรจาความร่วมมือ 10+1 (อาเซียนและจีน) ภายใต้แนวคิดทำอย่างไรให้ 10+1 มากกว่า 11

ยาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า มูลค่าการค้าระหว่างจีน-อาเซียนปี 2543 ซึ่งเป็นปีแรกที่ตั้งขึ้นมีมูลค่าอยู่ที่ 3-4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ผ่านไป 10 ปี มูลค่าเพิ่มขึ้น 10 เท่า และการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ของนักลงทุนจีนในอาเซียนเพิ่มขึ้น 20% ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียกลายเป็นภูมิภาคสำคัญของโลก เพราะ 40-50% ของจีดีพีโลกมาจากภูมิภาคเอเชีย สะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ดี เอดีบีแนะนำว่า หากภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียจะรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่าง ต่อเนื่องภายในปี 2573 จะมีความต้องการในการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานมากกว่า 22.6 ล้านล้านดอลลาร์

หลี่รั่วกู่ อดีตหัวหน้าและประธานกรรมการบริหาร เอ็กซิมแบงก์ ประเทศจีน เสริมว่า จีนพยายามเพิ่มระดับความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน (อาร์เซ็ป) เพื่อให้เกิดเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาค ขณะที่ในอนาคตทั้งสองภูมิภาคควรมีความร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเตรียมความพร้อมรับตลาดเสรีอาเซียนและจีน

จางเสี่ยวเชียง รองผู้อำนวยการศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน (CCIEE) กล่าวว่า ความร่วมมือจีนและอาเซียนน่าจับตามอง ด้วยเป็นภูมิภาคที่ยังมีการเติบโต โดยในปี 2559 มูลค่าการลงทุนของจีนในอาเซียนมีมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การลงทุนจากอาเซียนไปยังจีนอยู่ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้จีนมองว่าอาเซียนควรเพิ่มการลงทุนในจีนด้วย

ด้าน ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ มองว่า อาเซียนมีศักยภาพการเติบโตจากเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรมที่เพิ่มมากขึ้น แต่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเชื่อมโยง ทั้งนี้ความร่วมมือของจีนและอาเซียนในศักราชใหม่ควรเน้นด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากร ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อสร้างกลไกใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอี-คอมเมิร์ซของจีนเป็นโอกาสทางธุรกิจ จึงเป็นช่องทางการค้าที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้าม