posttoday

ปาล์มน้ำมัน ไทย มาเลย์ และอินโดฯ

07 เมษายน 2560

โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากบริษัท สยามเอลิทปาล์ม ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยกับบริษัทฝรั่งเศส (สัดส่วน 50% เท่ากัน) โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร หรือ “CIRAD” (Centre de Cooperation Internationale en Recherche Agronom ique pour le Developpement) หรือเป็นสถาบันพัฒนาพืชเมืองร้อนของฝรั่งเศสที่ตั้งมา 90 ปีแล้ว

ผมไปเพื่อบรรยาย เรื่อง “ปาล์มน้ำมันและยางพารา : ปัจจุบันและอนาคต” ที่ จ.กระบี่ ด้วยความที่เบื่ออาหารเช้าที่โรงแรม ผมจึงได้มีโอกาสไปกินอาหารเช้าที่ร้านโรตีแกง ชื่อว่า “บางนรา ณ กระบี่” อร่อยมากๆ ครับ มีทั้งโรตีน้ำแกงและนมที่ไม่เหมือนที่ใด รวมทั้งข้าวยำ ข้าวแกง ขนมจีน และกาแฟโบราณตามสไตล์ของคนใต้เลยครับ

ปี 2559 ประเทศต่างๆ ทั่วโลกสามารถผลิตปาล์มน้ำมัน (FFB) ได้ 65 ล้านตัน และหากพิจารณทั้งพื้นที่ให้ผลผลิตและน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 80% มาจาก 3 ประเทศของอาเซียน คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย และในระดับโลกก็ยังเป็น 3 ประเทศเช่นกัน ในขณะที่รัฐบาลของซีแอลเอ็มวีก็มีนโยบายส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการปลูกและผลิตปาล์มน้ำมันด้วย เพราะต้องการทดแทนการนำเข้า โดยในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าประเทศซีแอลเอ็มวีจะมีพื้นที่ปลูกปาล์มทั้งหมดเพิ่มเป็น 4-5 ล้านไร่ ซึ่งพบว่าประเทศเมียนมากับกัมพูชาจะมีผลผลิตปาล์มออกมากเป็นเรื่องเป็นราวในอนาคตอันใกล้มากที่สุด จึงถือได้ว่า “ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจของอาเซียน” ที่มีอนาคตอีกชนิดหนึ่งเราทราบกันอย่างดีแล้วว่าอินโดนีเซียกับมาเลเซียเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ของโลก แต่ในปัจจุบันและอนาคตประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียได้เริ่มปรับเปลี่ยนบทบาทในฐานะผู้ปลูกอันดับหนึ่งและสองของโลกไปเป็นผู้ผลิตและแปรรูปอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกโดยกำหนดให้ปาล์มน้ำมันเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งทั้งสองประเทศหันไปพัฒนา “อุตสาหกรรมโอลิโอเคมิคัล” เช่น สบู่ ผงซักฟอก เครื่องสำอาง สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ พลาสติก เป็นต้น เพราะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าการขายปาล์มน้ำมันเพียงอย่างเดียว

แม้ว่าประเทศไทยจะติด 1 ใน 3 ของการผลิตปาล์มน้ำมันของโลกก็ตาม แต่เมื่อเทียบศักยภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของไทยกับมาเลเซียและอินโดนีเซียแล้วถือว่า “ยังมีความแตกต่างกัน” ทั้งระดับการผลิตต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เช่น อินโดนีเซียมีพื้นที่ให้ผลผลิต 58 ล้านไร่ มาเลเซีย 35 ล้านไร่ ไทยมีเพียง 4.5 ล้านไร่ โดยพื้นที่ให้ผลผลิตของโลกเท่ากับ 120 ล้านไร่ ในขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันและซีพีโอของไทยก็น้อยกว่าทั้งสองประเทศหลายเท่าตัว และที่สำคัญผลผลิต/ไร่ ของไทยต่ำกว่าทั้งของมาเลเซีย (3.5 ตัน/ไร่ เป้าหมายเป็น 4 ตัน/ไร่) และอินโดนีเซีย (2.6 ตัน/ไร่)

แต่ผมคิดว่าศักยภาพการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเรามียุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ ทั้ง 3 กระทรวงได้ตอบโจทย์การพัฒนาปาล์มน้ำมันของไทย เช่น โออีอาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 22% ในอีก 5 ปีข้างหน้า พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมโอลิโอเคมิคัล มีการผลิตไบโอดีเซล B20 ขยายพื้นที่เหมาะสมในการปลูกเป็น 7 ล้านไร่ ซีพีโอเพิ่มขึ้นเป็น  6 ล้านตัน และที่สำคัญจะมีกฎหมายปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีความสำคัญในการจัดระเบียบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบ

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังใช้แผนที่การเกษตร หรือที่เรียกว่า “อะกริ แมป” เพื่อใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการปาล์มน้ำมันไทย ก็จะช่วยให้วางแผนการผลิตและจำหน่ายได้ถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้ยังมีข้อมูลความต้องการตลาด การขนส่ง ความต้องการสินค้า รวมทั้งปัจจัยการผลิตและการผลิตเป็นรายจังหวัด

ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วยครับ