posttoday

ภาระภาษี ธุรกิจแฟรนไชส์

25 สิงหาคม 2559

ในปัจจุบันได้มีการนำธุรกิจที่ตนเองประกอบอยู่และประสบความสำเร็จ และธุรกิจของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ

โดย...เบญจมาศ กุลกัตติมาส เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

ในปัจจุบันได้มีการนำธุรกิจที่ตนเองประกอบอยู่และประสบความสำเร็จ และธุรกิจของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ มาให้สิทธิแก่ผู้สนใจลงทุนทำธุรกิจได้นำไปต่อยอดทำธุรกิจของตนเองที่เรียกว่า “ธุรกิจแฟรนไชส์” เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก  ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ในการขยายกิจการของทั้งเจ้าของแฟรนไชส์และนักลงทุนรายใหม่

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 1,500 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ทั้งธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจสปา เป็นต้น ภาครัฐเองก็ให้ความสำคัญ และส่งเสริมในเรื่องขององค์ความรู้และสนับสนุนการสร้างมาตรฐานแก่ระบบแฟรนไชส์ของไทย เพื่อให้ธุรกิจสามารถขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเล็งเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย และแน่นอนว่ารัฐได้ผลักดันให้ธุรกิจขยายไปสู่ตลาดกลุ่มอาเซียน

อย่างล่าสุด เมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดกิจกรรมสร้างและขยายเครือข่ายทางการตลาดให้กับธุรกิจแฟรนไชส์ที่กรุงย่างกุ้ง เมียนมาโดยนำผู้ประกอบ การแฟรนไชส์ของไทยเดินทางไปนำเสนอและเจรจาธุรกิจกับนักธุรกิจของเมียนมา

วันนี้เลยขอเขียนถึงภาระภาษีที่ผู้ประกอบกิจการไทยควรพิจารณา กรณีที่ผู้ประกอบการไทยมีรายได้จากธุรกิจเเฟรนไชส์จากต่างประเทศโดยทั่วไปรายได้ที่มักเกิดขึ้นจากธุรกิจเเฟรนไชส์ ก็จะมีค่าเเฟรนไชส์ เพื่ออนุญาตให้ใช้ ชื่อ และสูตรลับ หรือ กรรมวิธีที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจนั้น รายได้นี้โดยทั่วไปในทางภาษีถือเป็น ค่าสิทธิ (Royalty) ซึ่งประเด็นหลักในเรื่องนี้ที่ต้องพิจารณาคือ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย โดยประเทศผู้จ่ายเงิน ตัวอย่างเช่นผู้ประกอบการไทย เรียกเก็บค่าเเฟรนไชส์ จากผู้ประกอบการเมียนมา ตามกฎหมายภาษีในเมียนมา ผู้ประกอบการเมียนมาจะต้องหักภาษีตามกฎหมายของเมียนมาในอัตรา 20% แต่ลดลงเหลือ 15% ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างไทยกับเมียนมา

กล่าวคือ ถ้าผู้ประกอบการไทย เรียกเก็บ 100 ก็จะได้รับ 85 เพราะ 15 ถูกหักเป็นภาษีที่เสียในเมียนมา โดยผู้จ่ายเงินในเมียนมาจะทำหน้าที่เก็บภาษีแทนรัฐบาลเมียนมา ขณะที่ผู้ประกอบการไทยหากเป็นนิติบุคคลก็ต้องนำรายได้ค่าแฟรนไชส์ 100 นั้นมาเป็นฐานรายรับในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีไทยที่อัตรา20% ของกำไรสุทธิ โดยผู้ประกอบการไทยสามารถนำภาษีที่ถูกหักในเมียนมา มาหักลดภาษีไทยได้แต่ไม่เกินภาษีไทยที่จะต้องเสียสำหรับเงินได้นั้น  ซึ่งในกรณีนี้ก็จะไม่เกินเพราะเมียนมาหักไว้ที่ 15% ขณะที่อัตราภาษีไทยคือ 20% กรมสรรพากรไทยจะอนุญาตให้นำภาษีที่จ่ายในต่างประเทศมาหักกลบภาษีไทยสำหรับเงินได้ก้อนเดียวกันได้ก็ต่อเมื่อมีหนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ออกโดยหน่วยงานราชการเหมือนกรมสรรพากรไทยในต่างประเทศเท่านั้น เรื่องนี้จึงเป็นข้อหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทราบไม่ว่าจะถูกหักภาษีในต่างประเทศกรณีใดๆ จะต้องดำเนินการขอให้ผู้จ่ายเงินในต่างประเทศที่ทำการหักภาษีไปทำเรื่องขอหนังสือรับรองการหักภาษีจากหน่วยราชการที่จัดเก็บภาษีของประเทศนั้นๆ มาให้ด้วย

นอกจากค่าแฟรนไชส์ ค่าสินค้า ก็อาจจะมีค่าบริการในกรณีที่ผู้ประกอบ การแฟรนไชส์ไทยให้บริการอื่นๆ ด้วยเช่นอาจจะให้บริการความช่วยเหลือแนะนำในเรื่องการฝึกอบรมพนักงาน เป็นต้น ค่าบริการโดยส่วนใหญ่จะไม่มีภาระภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามอนุสัญญาภาษีซ้อนซึ่งปัจจุบันไทยมีกับประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ ยกเว้น กัมพูชา และบรูไน

สิ่งที่นักธุรกิจควรต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่งก็คือภาษีในต่างประเทศค่อนข้างจะมีรายละเอียดและเงื่อนไขที่แตกต่างจากภาษีของประเทศไทย ซึ่งไม่อาจที่จะนำมากล่าวในรายละเอียด ณ ที่นี้ ที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นเพียงบางส่วน ดังนั้นก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ควรศึกษาและหาข้อมูลภาระภาษีของประเทศนั้นๆ ก่อน การที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายในต่างประเทศ อาจจะนำมาสู่ค่าปรับทางภาษีใน
ต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นภาระแก่ผู้ประกอบการในภายหลัง