posttoday

โจเอล นีออ สตาร์ทอัพมาเลเซีย

21 มีนาคม 2559

โจเอล นีออ (Joel Neoh) ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรงจากมาเลเซีย ที่มีชื่อเสียงจากการชนะการแข่งขันในรายการ ดิ อะเพรนทิซ

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

โจเอล นีออ (Joel Neoh) ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไฟแรงจากมาเลเซีย ที่มีชื่อเสียงจากการชนะการแข่งขันในรายการ ดิ อะเพรนทิซ (The Apprentice) ของ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ในปี 2550 รายการค้นหาผู้ที่มีความสามารถทางธุรกิจ โดยช่วงที่เข้าแข่งขันนั้นมีอายุเพียง 23 ปี และจากการชนะการแข่งขันในครั้งนี้ทำให้เขาเป็นที่รู้จักทั่วโลก

นอกจากนี้ เขายังเคยได้รับรางวัลเอิร์น แอนด์ ยังก์ อองเทอเพอเนอร์ (Ernst & Young Entrepreneur) สาขาผู้ประกอบการใหม่ในมาเลเซีย ในปี 2555 และมีรายชื่อติด 1 ใน 10 ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของเอเชีย โดยเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum)

สำหรับหนทางสู่นักธุรกิจของเขา เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 20 ปี ขณะที่กำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Says.com, แคทชา มีเดีย (Catcha Media) และสตาร์ทอัพอีกหลายธุรกิจ และยังเป็นผู้ก่อตั้งกรุ๊ปมอร์ (GroupsMore) เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมร้านอาหาร ร้านค้า และ กิจกรรมต่างๆ ซึ่งหลังจากนั้นเพียง 5 เดือน กรุ๊ปมอร์ถูกซื้อกิจการโดยกรุ๊ปปอน (Groupon) โดย โจเอล ยังได้เป็นประธานอาวุโส และหัวหน้ากรุ๊ปปอนเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่ปี 2556-2558 ซึ่งสามารถสร้างการเติบโตของธุรกิจหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงดูแลพนักงานหลายพันคนใน 12 ประเทศ

ในปี 2558 โจเอล ยังได้ก่อตั้ง KFit เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นบนมือถือที่รวบรวมสถานที่ในการออกกำลังกาย ทั้งโรงยิมและฟิตเนสกว่า 1,000 แห่ง ใน 8 ประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ โดยวางเป้าหมายในปีนี้ คือ เป็นศูนย์รวมเรื่องสุขภาพ พร้อมเพิ่มบริการในส่วนธุรกิจสปา ความสวยความงาม พร้อมปรับกลยุทธ์ให้สามารถค้นหาร้านที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ของผู้ใช้มากที่สุด อำนวยความสะดวกได้มากขึ้น

จากความสำเร็จทางธุรกิจ โจเอล บอก 5 ข้อคิดในการทำงานดังนี้ 1.การสร้างสรรค์ธุรกิจ หรือผลิตสินค้าในครั้งแรกใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในทันที อย่าเสียเวลากับสิ่งที่จะไม่ทำให้ธุรกิจพัฒนา 2.ล้มเหลวอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เมื่อมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นเรื่อยๆ เราจะไม่หยุดพัฒนาธุรกิจของตัวเอง ยิ่งเจอจุดบกพร่องรวดเร็วเท่าไหร่ ความสำเร็จของธุรกิจก็จะเกิดขึ้นได้เร็วเท่านั้น 3.ความผิดพลาดที่สุดของธุรกิจ คือ เจอจุดบกพร่องแต่ไม่ยอมแก้ไข เป็นสิ่งที่ผิดพลาดที่สุด เว้นเสียแต่ว่าใช้เวลาแก้ไขนานขึ้นเท่านั้น

4.ความสำเร็จของสตาร์ทอัพขึ้นอยู่กับทีมงานที่มีคุณภาพ คือ การจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และเลือกคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่สุด สุดท้าย 5.เลือกผู้ร่วมก่อตั้ง และหุ้นส่วนที่เหมาะสม โดยการหาผู้ร่วมก่อตั้งที่เหมาะสมที่สุด คือ การหาคนที่ตรงกันข้ามกับเรา มีความสามารถที่แตกต่างกับเรา แต่สามารถทำงานอย่างเกื้อกูลกันได้ ทำให้มองธุรกิจได้หลายมุมมากขึ้น เรียนรู้การให้เกียรติและเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

รวมถึงต้องเป็นผู้ที่มีเป้าหมายเดียวกัน อันจะทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง