posttoday

ทำอย่างไรให้รอดพ้นในสภาวะCOVID-19 ในเมียนมา

28 พฤศจิกายน 2563

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

มีคำถามจากเพื่อนกรรมการสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เมื่อบ่ายวานนี้ (วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน) ผมมีการประชุมคณะกรรมการสภาธุรกิจไทย-เมียนมา  เรามีการตั้งแผนงานในการที่จะดำเนินการในวาระที่ดำรงตำแหน่งนี้

โดยเรามีการที่จะจัดตั้งคลีนิค เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปทำการค้า-การลงทุนในเมียนมาหลังจากที่สอบถามกรรมการว่ามีคำแนะนำอะไรบ้างให้วาระนี้

ปรากฏว่ามีกรรมการท่านหนึ่งบอกว่าเราควรจะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่กำลังทำธุรกิจอยู่ในเมียนมาโดยให้คำแนะนำเพื่อนๆเหล่านั้นว่า

เราจะรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ระลอกสองที่กำลังระบาดหนักในขณะนี้น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าที่จะให้คำแนะนำกับคนที่จะเข้าไปทำธุรกิจใหม่ผมก็เห็นด้วยนะครับ

ดังนั้นวันนี้จึงขอนำเอาสิ่งที่ผมประสบมาในช่วงนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากธุรกิจทุกประเภทในประเทศเมียนมา  ได้เกิดการช็อคจากการระบาดของเจ้าวายร้าย COVID-19  รัฐบาลเมียนมาได้ประกาศปิดประเทศทางเครื่องบินทำให้การเดินทางเข้าประเทศเมียนมาแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยจะเข้าไปได้ก็เพียงเข้าไปทางรถยนต์เท่านั้นแต่ต้องขออนุญาตการเดินทางเข้าไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

อีกอย่างในเมืองย่างกุ้งเองถนนหนทางในเมืองก็แทบจะร้างว่างเปล่าไปเลยเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างแรงมาก

นั่นคือระลอกแรกของ COVID-19 นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นแค่เผาหลอกไม่ใช่เผาจริงหนังโฆษณาครับไม่ใช่หนังชีวิตครับเพราะว่าเผาจริงหรือหนังดราม่าของจริงมาเริ่มเอาเมื่อตอนเดือนสิงหาคม

หลังจากที่มีคนที่ติดเชื้อที่เข้ามาทางเมืองชิตต่วย รัฐยะไข่ ได้เดินทางเข้ามาสู่ย่างกุ้ง โดยทางการเมียนมาเริ่มจะรู้สึกตัวเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม

เหตุผลที่ทำให้เขารู้ ก็เพราะมีประชาชนจากเมืองชิตต่วยติดเชื้อ COVID-19 นั่นเอง แต่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะในวันที่ 10-21 สิงหาคม ได้มีผู้โดยสารที่เดินทางโดยสายการบิน เข้ามาสู่เมืองย่างกุ้งมาทั้งหมดจำนวน 5,409 คนแต่ได้สลายหายตัวไปในสังคมเมืองเรียบร้อย

จะมีเพียงจำนวน 3,043 คนเท่านั้น ที่ยังสามารถติดต่อได้ แต่ในจำนวนนี้มีคนที่เชื่อฟังคำสั่งของทางการที่ให้เข้ามาตรวจหาเชื้อเพียง 782 คน และในจำนวนนี้มีคนที่ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการกักกันตัวมากถึง 661 คน

เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสที่เชื้อวายร้าย COVID-19 จะระบาดกระจายอย่างรวดเร็วในเมืองย่างกุ้ง จึงไม่น่าแปลกใจเลยครับ

เมื่อระลอกสองของเจ้าวายร้าย COVID-19 เข้ามาจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงทำให้การค้าหยุดชะงักนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมชาติไปโดยปริยายครับ

คนที่ได้รับผลกระทบนั้นมันไม่เลือกว่าเป็นพม่ารามัญหรือว่าเป็นไทยหรือฝรั่งมังค่าเลยครับใครที่มีการทำธุรกิจในประเทศเมียนมาได้รับโปรโมชั่นสมนาคุณกันถ้วนหน้า

ต่อให้ใครเก่งขนาดไหนก็หนีไม่พ้นหรอกครับ ได้รับความเสมอภาคไม่มีสองมาตรฐานเลยครับ ผมเองก็เคยบอกเสมอว่า งานนี้ “ยิ่งใหญ่ ยิ่งเจ็บ” เป็นความจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ครับ

เรามาดูว่าเมื่อเจอปัญหาแล้วเราจะแก้ไขปัญหากันอย่างไรดีถึงจะเจ็บน้อยที่สุดหรือสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ละครับผมต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่าผมไม่ใช่เซียนผู้วิเศษหรือว่าเป็นฮีโร่เป็นพระเอกหรอกครับผมเป็นคนธรรมดาเดินดินกินข้าวแกงนี่แหละครับ

แต่จะนำเอาประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะได้ให้ท่านนำไปเป็นแนวคิด เมื่อคราวจับเหมาะเคราะห์ดีเจอเข้าครับ

ก่อนอื่นต้องดูว่าธุรกิจของเรานั้นเป็นธุรกิจอะไรก่อน ถ้าเป็นธุรกิจที่เป็นที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor intensive Business) ต้นทุนของท่านจะอยู่ที่แรงงานเป็นส่วนใหญ่

สิ่งแรกที่จะทำได้ ต้องรีบมาดูว่าต้นทุนอะไรมากที่สุด แน่นอนว่าต้องเป็นค่าจ้างแรงงาน แล้วจะลดค่าจ้างแรงงานอย่างไรได้อย่างไร 

จากประสบการณ์ของผม ผมก็จะเรียกประชุมด่วน โดยจะประกาศใช้วิธี “สลับวันทำงาน” ของพนักงานทั้งหมด ซึ่งต้องทำใจแข็งๆแจ้งไปเลยว่า เราไม่ลดเงินเดือนนะ วันไหนมาทำงานเราจ่ายเต็ม วันหยุดเราจ่าย 30% ตามที่ทางรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานประกาศ

สรุปแล้วมักจะมีคนที่ไม่อยากทำงานต่อ จะมาขอลาออก เราก็ตอบสนองเขาไปเลยครับ แฮ่ๆๆๆ....เข้าทางเราเลย  แต่เราไม่ได้ใจร้ายนะเพราะเราเองก็ไม่สามารถอยู่รอดได้หากต้องจ่ายเงินเดือนเต็มแต่ยอดขายลดลงไปมาก

จากนั้นค่อยมาดูว่าส่วนไหนที่เป็นต้นทุนที่สูงถัดลงมาค่อยๆใจเย็นๆแก้ไปทีละจุดครับอย่างนี้จึงอยู่รอดปลอดภัยได้ครับ

ส่วนธุรกิจของผมเองเป็นธุรกิจที่ซื้อมา-ขายไป เพราะขายสินค้าอุปโภค-บริโภคค่าแรงไม่ใช่ต้นทุนที่มากที่สุดจึงไม่จำเป็นที่จะต้องลดแรงงานลงไปมาก

ต้นทุนจะมีมาก คือ ต้นทุนของสินค้าที่ผมเองต้องคิดหาสินค้าที่สามารถผลิตภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าเพื่อที่จะได้ลดค่าภาษีนำเข้าและค่าขนส่ง

ส่วนแรงงานก็มีเพียงฝ่ายขายและฝ่ายบริหารที่เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเก็บรักษาไว้อย่างดีแรงงานด้านอื่นๆเราก็จะพยายามลดลงบ้างอย่างที่กล่าวมาแล้ว

แต่ต้องคำนึงถึงจิตใจของพนักงานที่เหลืออยู่ด้วย ซึ่งต้องใช้จิตวิทยาชั้นสูงในการลดแรงงาน ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเช่นกันครับ

รายละเอียดมีอีกเยอะครับ แต่เนื้อที่กระดาษมีน้อย ทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมาโดยคณะกรรมการเองก็มองเห็นความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในเมียนมา

เราจึงได้กำหนดให้มีการจัดสัมนาเรื่อง “ทางรอดของธุรกิจในเมียนมา ช่วงสภาวะCOVID-19 ระลอกสอง” โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม  2564 เวลา 16:30 -20:30 น. ณ.The Oduem Bangkok ซอยรามคำแหง 24 (ที่จอดรถสะดวกมาก) 

เพื่อเป็นการตอบสนองแก่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสภาธุรกิจไทย-เมียนมาโดยสมาชิกจะได้รับส่วนลดตามกฎเกณฑ์ที่เรากำหนด

ส่วนท่านที่ไม่ได้เป็นสมาชิกถ้าสนใจร่วมรับฟังเพื่อนำเอามาเตรียมตัวเองไว้หากเกิดวิกฤตในประเทศไทยเมื่อไหร่

ท่านอาจจะสามารถนำออกมาเป็นอุทาหรณ์ได้ด้วยเช่นกันครับ สนใจสามารถโทรเข้าไปที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา เบอร์โทร 02-345-1128, 02-345-1151 และ 02-345-1131 งานนี้จะเป็น Dinner Talk ครับ มีอาหารอร่อยทั้งอาหารปากและความรู้ครับ