posttoday

อัดงบกว่า 8.5 พันล้าน ผุดถนนเชื่อม 3 ประเทศเพื่อนบ้าน 4 ส้นทาง

23 ธันวาคม 2562

NEDA กางแผนพัฒนาถนนเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน ปี'63 เชื่อม ลาว-เมียนมาร์-กัมพูชา ทุ่มเงินสนับสนุนกว่า 8,500 ล้านบาท คอนเฟิร์มเส้นทาง กรุงเทพ-ทวาย เกิดแน่หลังมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญฯ เดินหน้าต่อได้

NEDA กางแผนพัฒนาถนนเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน ปี'63 เชื่อม ลาว-เมียนมาร์-กัมพูชา ทุ่มเงินสนับสนุนกว่า 8,500 ล้านบาท คอนเฟิร์มเส้นทาง กรุงเทพ-ทวาย เกิดแน่หลังมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญฯ เดินหน้าต่อได้

นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน องค์การมหาชน(สพพ.) หรือ NEDA เปิดเผยว่าในปี 2563 มีภาระกิจสนับสนุนการผลักดันถนนเส้นทางเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน ตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลสนับสนุนการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งของอาเชียน (ASEAN Connectivity)ที่และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS)โดยเป็นการสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนารวมมูลค่า 8,500 ล้านบาท รวม 4 เส้นทาง เชื่อม 3 ประเทศ เมียนมาร์ สปป.ลาวและกัมพูชา

ขณะที่แผน 5 ปีข้างหน้าจะเน้นมอบเงินทุนสนับสนุนให้กับกัมพูชาและเมียนมาร์ เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจโตโดดเด่นและไม่มีภาระหนี้มากนัก

สำหรับประเทศเมียนมาร์นั้นในปี 2563 เตรียมเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางเชื่อมท่าเรือน้ำลึกทวาย เส้นทาง กาญจนบุรี-ทวาย ระยะทาง 138 กม. วงเงิน 4,000 ล้านบาท ขณะนี้ผลการศึกษาเสร็จแล้ว โดยมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตำบลพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี และไปสิ้นสุดที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งทางรัฐบาลเมียนมาร์ต้องการเส้นทางนี้เป็นอย่างมากเพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างไทยกับกลุ่มชาติ BIMSTEC ประกอบกับการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งขณะนี้เคลียร์ค่าเวนคืนจนเริ่มกลับมาก่อสร้างได้แล้วและที่จะเปิดใช้ในปี 2566 ยิ่งทำให้เส้นทางนี้มีศักยภาพในการลงทุนพัฒนา

ส่วนด้านสปป.ลาว นั้น มี 2 โครงการที่จะสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำประกอบด้วย โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 (ช่วงจังหวัดบึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ) เป็นการสนับสนุนเงินทุนก่อสร้างในฝั่งสปป.ลาว วงเงิน 1,300 ล้านบาท ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เตรียมอนุมัติเงินกู้เพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 2563 ไปพร้อมกับฝั่งไทย

นอกจากนี้ยังเตรียมลงนามสัญญาเงินทุน 2,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาเส้นทางถนนหมายเลข 12 (R12)นครพนม ไทย–ท่าแขก/นาเพ้า สปป. ลาว–จาลอ/ฮานอย เวียดนาม ระยะทาง 147 กิโลเมตร(กม.) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า ใช้เวลาดำเนินการ 2 ปี

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังติดเงื่อนไขในการลงนามสัญญาคือข้อกำหนดให้ต้องให้ถนนเส้นนี้เป็นการขนส่งข้ามพรมแดนตามอนุสัญญา (GMS Cross-Border Transport Agreement : CBTA)เพื่อให้รถขนส่งสินค้าวิ่งเชื่อม 3 ประเทศ ไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม ขนส่งสินค้าไปยังจีนตอนใต้

ขณะที่ประเทศกัมพูชา ปีหน้าเตรียมเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติ เงินทุนสนับสนุนราว 1,200 ล้านบาทในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมไทย-กัมพูชา ช่วงถนนหมายเลข 67 (NR67) เสียมราฐ-อันลองเวง-จวม/สะงา ราชอาณาจักรกัมพูชา ราชอาณาจักรกัมพูชา ระยะทาง 131 กม. ใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี ทั้งนี้การสนับสนุนเงินทุนในทุกโครงการมีดอกเบี้ยอยู่ที่เพียง 0.1% เป็นการส่งเสริมโอกาสให้ประเทศในกลุ่ม GMS พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจในภูมิภาค