posttoday

"ทวาย เมาะละแหม่ง" ไข่มุกเม็ดงามแห่งเมืองการค้าและการลงทุน

26 พฤศจิกายน 2562

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นำโดยกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ นำคณะผู้ประกอบการไทยเดินทาง เพื่อไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางการลงทุน ใน 2 เมืองที่มีศักยภาพ ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้แก่ เมืองทวายและเมืองเมาะละแหม่ง

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นำโดยกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ นำคณะผู้ประกอบการไทยเดินทาง เพื่อไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางการลงทุน ใน 2 เมืองที่มีศักยภาพ ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้แก่ เมืองทวายและเมืองเมาะละแหม่ง ระหว่างวันที่ 16-20 กันยายน 2562 โดยได้เข้าพบหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในแต่ละเมือง ดังนี้

1. เมืองทวาย (Dawei) ในการเยือนครั้งนี้ทางคณะนักลงทุนไทยได้มีโอกาสได้เข้าพบ Mr. U Yet Htut Naing ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งรัฐตะนาวศรี TANINTHARYI REGION CHAMBER OF COMMERCE AND INDUSTRY (TRCCI) โดยรัฐตะนาวศรี

ประกอบด้วย 3 เมืองหลัก ได้แก่ ทวาย มะริด และเกาะสอง มีทวายเป็นเมืองเอก โดยรัฐตะนาวศรีนั้นมีเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อกับไทย โดยมีด่านสำคัญ 3 แห่ง ประกอบด้วย 1. จุดผ่านแดนถาวรจังหวัดระนอง / เมืองเกาะสอง 2. จุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี / บ้านทิกิ เมืองทวาย 3. จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ / มูด่อง เมืองมะริด

นอกจากนี้ เมืองทวายยังเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของพม่า เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทั้งก๊าซ แร่ธาตุ อัญมณี ทรัพยากรทางทะเล แหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ โดยรัฐบาลเมียนมามีแผนกำลังจะพัฒนาสนามบินทวายให้เป็นสนามบินนานาชาติในอนาคต โดยจะพัฒนาควบคู่ไปกับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์และรองรับการขนส่งสินค้าทั้งทางเรือและอากาศ และรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

โอกาสและลู่ทางการลงทุนที่น่าสนใจในเมืองทวาย 1.ด้านพลังงาน ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าในเมืองทวายและพื้นที่อื่นๆในรัฐตะนาวศรีนั้นยังมีปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน

ทั้งนี้เป็นโอกาสดีของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุน ปัจจุบันมีบริษัทไทยคือ บริษัท อันดามัน เพาเวอร์ แอนด์ ยูทิลิตี้ จำกัด เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมียนมาในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ และยังเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเป็นโครงการแรกในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

2. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ปัจจุบันในรัฐตะนาวศรีมีโรงแรมประมาณ 1,500 ห้อง แต่มีปริมาณนักท่องเที่ยวปีละประมาณ 140,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาไม่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุน 100% ในธุรกิจโรงแรมได้

นอกจากนี้ ในเรื่องการบริหารจัดการโรงแรมนั้นชาวเมียนมายังขาดความรู้ความสามารถในเรื่องนี้ จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยได้เช่นกัน และในอนาคต การพัฒนาถนนและโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมระหว่างฝั่งไทยกับเมืองทวายจะทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นอีก

3. อุตสาหกรรมประมง เศรษฐกิจของเมืองทวายขึ้นกับการทำประมง ทวายมีสัตว์น้ำทะเลตัวใหญ่ทุกประเภท ทั้งปลา กุ้ง และปลาหมึก ในรัฐตะนาวศรีมีฟาร์มกุ้งที่ใช้เทคโนโลยีจากไทย ทำให้เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทยซึ่งมีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมบรรจุกระป๋องและถนอมอาหารทะเล เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าสนใจเนื่องจากเมืองทวายมีสัตว์น้ำทะเลจำนวนมาก โดยเฉพาะกุ้งลอปสเตอร์ ซึ่งสามารถแปรรูปส่งออกไปขายยังตลาดภายในประเทศและต่างประเทศได้

4. อุตสาหกรรมเหมืองแร่ พื้นที่รัฐตะนาวศรีนั้นมีเหมืองแร่จำนวนมาก โดยเฉพาะแร่ดีบุก จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจของนักลงทุนไทยในด้านเหมืองแร่ ปัจจุบันมีบริษัทไทยเข้าไปลงทุนคือ บริษัทเมียนมาร์พงษ์พิพัฒน์ โดยลงทุนในเหมืองเฮ็นดา ซึ่งเป็นเหมืองในเมืองทวาย และมีขนาดใหญ่ที่สุดในแคว้นตะนาวศรี

เข้าเยี่ยมชมโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและนิคมอุตสาหกรรมทวาย

สำหรับท่าเรือน้ำลึกทวายตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกที่สามารถรองรับเรือน้ำหนัก 300,000 ตัน และสามารถเชื่อมโยงไปยังตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้

โดยโครงการพัฒนาท่าเรือทวายยังอยู่ในโครงการเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC ระหว่างเมืองดานัง เวียดนาม / เมืองเมาะละแหม่ง เมียนมา) ทั้งนี้การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายจะช่วยสนับสนุนบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาค (Logistics Hub)

โดยผ่านเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) ซึ่งจะใช้เวลาในการขนส่งจากทะเลจีนใต้มายังทะเลอันดามัน หรือจากเวียดนามมายังเมียนมา โดยใช้เวลาเพียง 6 วัน ทำให้ลดระยะเวลาในการขนส่งปัจจุบันที่ต้องอ้อมแหลมมะละกาซึ่งใช้เวลาในการขนส่งนานถึง 16-18 วัน

ในส่วนของความคืบหน้าของโครงการนั้น ในเดือนตุลาคม 2562 รัฐบาลไทยได้อนุมัติในหลักการสนับสนุนทางการเงิน ในรูปแบบของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA

สำหรับโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงชายแดนไทยบริเวณบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ไปยังพื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยคาดหวังว่าจะมีมูลค่าการค้ารวมตลอดแนวระเบียงเศรษฐกิจนี้สูงถึง 4 ล้านล้านบาท หรือ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี รวมถึงเกิดการสร้างงานภายในนิคมอุตสาหกรรมทวายประมาณ 900,000 คน และภายในสิ้นปี 2562 เมียนมาจะเซ็นสัญญากู้เงินจาก NEDA เพื่อพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายวงเงิน 4.5 พันล้านบาท สำหรับก่อสร้างถนนระยะทาง 148 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566

2. เมืองเมาะละแหม่ง (Mawlamyine)
ในการเยือนครั้งนี้ทางคณะนักลงทุนไทยได้มีโอกาสได้เข้าพบ Mr. U Win Htein ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งรัฐมอญ MON STATE CHAMBER OF COMMERCE AND INDUSTRY (MSCCI) โดยเมืองเมาะละแหม่งเป็นเมืองหลวงที่สำคัญของรัฐมอญ (MON STATE) ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างมาก และที่สำคัญคือเป็นปลายทางของถนนบนระเบียงเศรษฐกิจ East-West Economic Corridor (EWEC) ที่ทอดยาวจากเมืองดานังของเวียดนามมาสิ้นสุดที่เมืองเมาะละแหม่ง เมียนมา

นอกจากนี้ภาคเอกชนกำลังมีโครงการพัฒนาสนามบินเมาะละแหม่งให้เป็นสนามบินนานาชาติภายใน 3 ปี นอกจากนี้จะเปิดเที่ยวบินเส้นทาง กรุงเทพ – เมาะละแหม่ง – กรุงเทพ โดยทำการบินทุกวัน คาดว่าจะเปิดให้บริการใน 1-2 ปี ตอนนี้กำลังดำเนินการขออนุญาตจากทางรัฐบาลเมียนมา ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ แรงงานชาวเมียนมาเชื้อสายมอญในไทยที่มีมากกว่า 100,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวมถึงท่าเรือเมาะละแหม่งเป็นท่าเรือสำคัญทางฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางทางการค้า และเป็นประตู่สู่มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย

ปัจจุบันใช้สำหรับขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยนักธุรกิจที่ไปตั้งโรงงานเพื่อการผลิตสามารถใช้ท่าเรือแห่งนี้เพื่อส่งออกสินค้าไปต่างประเทศได้

โอกาสและลู่ทางการลงทุนที่น่าสนใจในเมืองเมาะละแหม่ง
1. ด้านพลังงาน ในเมืองเมาะละแหม่งมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลของเอกชน ซึ่งดําเนินงานโดย Capital Electric power Ltd. แต่กระแสไฟฟ้ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องรับกระแสไฟฟ้าจากเมืองย่างกุ้งด้วย

ดังนั้นเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุน เนื่องจากยังไม่มีคู่แข่งมาก ปัจจุบันมีบริษัทไทยเข้าไปลงทุนคือ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ โดยขายไฟให้กับสหกรณ์หมู่บ้านในเมียนมา กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์

2. อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ในเมืองเมาะละแหม่งยังไม่มีโรงงานแปรรูปสินค้าการเกษตร เช่น เงาะ มังคุด และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น โดยพื้นที่ในเมืองเมาะละแหม่งมีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้

3. อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าประมง เมืองมะละแหม่งอยู่ติดกับทะเลทำให้มีการทำประมงจำนวนมาก แต่โรงงานแปรรูปสินค้าจากประมง เช่น อาหารกระป๋องยังไม่มีคนมาทำธุรกิจนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่น่าสนใจของนักธุรกิจไทย

4. ธุรกิจเชื้อเพลิงไม้อัดแท่ง (Wood Pellet) พื้นที่ในรัฐมอญส่วนใหญ่นิยมปลูกต้นยางจำนวนมาก แต่น้ำยางไม่ได้คุณภาพ จึงนำลำต้นของต้นยางนั้นมาแปรรูปทำเป็นเชื้อเพลิงไม้อัดแท่งได้ ปัจจุบันธุรกิจนี้ยังไม่มีคนให้ความสนใจมาก ดังนั้นเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย

ผลตอบรับจากนักธุรกิจไทยในกิจกรรมครั้งนี้ พบว่ามีความสนใจข้อมูลการลงทุนในเมียนมาเป็นอย่างมาก มีการสอบถามหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในเรื่องโอกาสในการเข้ามาลงทุน ต้นทุนแรงงาน ปัญหาและอุปสรรค ในส่วนของกิจกรรม Business Matching ได้มีผู้ประกอบการชาวเมียนมาให้ความสนใจพบปะเจรจาธุรกิจกับนักลงทุนไทย

โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคและบริโภค อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และธุรกิจเชื้อเพลิงไม้อัดแท่ง (Wood Pellet) และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน นักธุรกิจเมียนมาแนะนำให้นักลงทุนไทยรีบขยายการลงทุนมายังประเทศนี้ เนื่องจากมีโอกาสและลู่ทางการเติบโตของธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะนักธุรกิจจากทวายมีความต้องการที่จะเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับจังหวัดกาญจนบุรีเป็นอย่างมากในหลายมิติทั้งการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว

โดยเชื่อว่าหากถนนลาดยางจากกาญจนบุรีไปยังทวายก่อสร้างแล้วเสร็จจะก่อให้เกิดการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับเมียนมาเพิ่มขึ้นมากอย่างแน่นอน

สุดท้ายนี้ทางคณะ ยังมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจและไม่สามารถจะบรรยายเรื่องราวได้ทั้งหมดในบทความการสำรวจเส้นทางการค้าการลงทุนในประเทศเมียนมา ที่สร้างโอกาสสำหรับนักลงทุนจำนวนมากที่ยังรอการลงทุนเพื่อพัฒนาและสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศเมียนมาและตลาดต่างประเทศ

ทั้งในสินค้าอุปโภคและบริโภค สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปธุรกิจพลังงาน การท่องเที่ยว ประมง และเหมืองแร่ ที่นับวันจะมีความสำคัญมากในกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนั้นทางคณะจึงเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ เว็ปไซต์ https://toi.boi.go.th หรือติดต่อปรึกษาการลงทุนไทยในต่างประเทศโดยตรงที่ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
อีเมล [email protected]

"ทวาย เมาะละแหม่ง" ไข่มุกเม็ดงามแห่งเมืองการค้าและการลงทุน

"ทวาย เมาะละแหม่ง" ไข่มุกเม็ดงามแห่งเมืองการค้าและการลงทุน