posttoday

สำรวจประเทศเมียนมา: ดินแดนแห่งอารายธรรมลุ่มแม่น้ำอิระวดี

28 กันยายน 2562

พม่า หรือ เมียนมา มีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ถ้าจะกล่าวถึงประเทศนี้ เราจะนึกถึง ประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยเป็นระยะทางกว่า 2,100 กม. มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอย่างมากมาย ผู้คนในชาติยึดมั่นในพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น

โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

พม่า หรือ เมียนมา มีชื่อทางการว่า สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ถ้าจะกล่าวถึงประเทศนี้ เราจะนึกถึง ประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยเป็นระยะทางกว่า 2,100 กม. มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอย่างมากมาย ผู้คนในชาติยึดมั่นในพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น เป็นดินแดนแห่งความศรัทธาใน พระมหาเจดีย์ชเวดากอง หรือ เจดีย์ทองแห่งเมืองดากอง อย่างไม่เสื่อมคลายเป็นเวลากว่าพันปี

อีกเช่นเคย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นำโดยกองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ นำคณะนักลงทุนไทยในโครงการอบรมหลักสูตร "สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ (TOISC)" เดินทางไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางการลงทุน ระหว่างวันที่ 5-9 สิงหาคม 2562 ณ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

การเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพี่อนำนักธุรกิจไทยลงพื้นที่สำรวจการลงทุนใน 2 เมืองใหญ่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ เมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1.เมืองย่างกุ้ง เป็นอดีตเมืองหลวงเก่า แต่ก็ยังเป็นเมืองหลวงทางการค้าที่สำคัญของพม่า เพราะด้วยประชากรกว่า 7 ล้านคน ย่างกุ้งจึงยังคงเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของพม่าและเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดในประเทศ โดยมีเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปเพียง 1 ชั่วโมง

ในการเยือนครั้งนี้ทางคณะนักลงทุนไทยได้มีโอกาสเข้าพบ นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และ DR. Marlar Myo Nyunt รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการลงทุนเมียนมา (DICA) รวมถึง Mr. Tint Swai ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา (UMFCCI) โดยในการเข้าพบปะครั้งนี้ทางคณะได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปภาพรวมของการลงทุนในเมียนมา ทั้งในเรื่องการค้าและการลงทุนได้อย่างครบถ้วน และได้พบปะ นายสรศักดิ์ กีรติโชคชัยกุล นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมา Thai Business Association of Myanmar (TBAM) และกลุ่มนักธุรกิจไทยในเมียนมา อีกด้วย

2.เมืองมัณฑะเลย์ เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทางตอนเหนือของเมียนมา และถือเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศรองจากย่างกุ้ง และยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญบนเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียกับจีน

นอกจากนี้ มัณฑะเลย์ ยังมีท่าเรือแม่น้ำขนาดใหญ่สำหรับการขนส่งสินค้า และท่าอากาศยานนานาชาติมัณฑะเลย์ โดยคณะนักลงทุนไทยได้มีโอกาสได้เข้าพบ Mr. U Kyaw Min ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมืองมัณฑะเลย์ Mandalay Chamber of Commerce and Industry (MRCCI) ซึ่งเป็นหอการค้าท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกประมาณ 2,700 บริษัท เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชนในเขตมัณฑะเลย์ รวมถึงได้มีโอกาสจัดกิจกรรมพบปะเจรจาธุรกิจกับสมาชิกหอการค้ามัณฑะเลย์ในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมบริการ เป็นต้น

นอกจากนี้คณะยังได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมเขตอุตสาหกรรมเมียวทา (Myotha Industrial Park) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ประมาณ 2 ชั่วโมง โดยโครงการนี้มีอุตสาหกรรมเป้าหมายในการลงทุนได้แก่ อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมการค้า อุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมการเงิน

สำหรับโอกาสในการลงทุนในประเทศเมียนมา ในปัจจุบัน เมียนมามีความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่ เมียนมาเริ่มเปิดประเทศในปี 2553 และดำเนินนโยบายปฏิรูปด้านการเมืองและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมียนมาได้กลายเป็นหนึ่งในประเทศ ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด

โดยในปัจจุบันเมียนมามีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่เอื้ออำนวยต่อ FDI (foreign direct investment) และมีแรงงานที่สามารถพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้รัฐบาลยังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการรองรับภาคอุตสาหกรรมและการค้าการลงทุน อาทิ เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตและแจกจ่ายกระแสไฟฟ้า เร่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ

รวมถึงมีการปรับปรุงกฏระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับหลักสากล และมีการพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐที่รวดเร็ว รวมถึงมีความพยายามที่จะควบคุมราคาอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาได้ก่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ดังจะเห็นได้จากประชาชนเริ่มมีกำลังซื้อ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เข้าถึงระบบสาธารณูปโภคได้ง่ายและปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า และระบบขนส่งมวลชนที่ได้รับการปรับปรุงคุณภาพ ระบบโทรคมนาคมที่มีราคาถูกลง และบริการทางการแพทย์และการศึกษาที่ดีกว่าเดิม

นอกจากการปฏิรูปภายในประเทศเองที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โอกาสทางธุรกิจยังได้รับแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยสนับสนุนภายนอก ได้แก่ การลงทุนขนาดใหญ่ของต่างชาติ และจากการได้รับความช่วยเหลือในด้านต่างๆจากต่างประเทศ ตลอดจนการคืนสิทธิพิเศษทางการค้า อาทิ GSP (general system of preferences) ที่จะช่วยดึงนักลงทุนให้ใช้เมียนมาเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายอุตสาหกรรม อาทิ เสื้อผ้าและสิ่งทอ สินค้าเกษตร และอาหารทะเล โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจในเมียนมาได้เปิดโอกาสให้กับนักธุรกิจต่างชาติ ซึ่งรวมถึงนักธุรกิจจากไทย ที่ต้องการค้าขาย หรือลงทุนในเมียนมาจำเป็นต้องก้าวให้ทันเพื่อคว้าโอกาส กำหนดที่ยืนในตลาดและทิศทางกลยุทธ์อย่างรวดเร็วให้สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาประเทศและนโยบายทางเศรษฐกิจของเมียนมา ทั้งนี้ โอกาสทางธุรกิจที่นักลงทุนไทยควรเข้าไปเจาะตลาดเมียนมา ได้แก่

1.โอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาตร์การพัฒนาเมียนมา : ปัจจุบันเมียนมาได้มุ่งมั่นปรับปรุงประเทศให้เข้าสู่การเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีความทันสมัยและมีระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร อาทิ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ระบบสาธารณูปโภค ระบบชลประทาน ระบบโทรคมนาคม โรงไฟฟ้าและพลังงาน

โดยในธุรกิจเหล่านี้ นักลงทุนไทยมีความชำนาญและเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการก่อสร้างที่พักอาศัย รวมถึงธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เช่น ซีเมนต์และโลหะ ที่ยังเป็นมีความต้องการมากขึ้นตามจำนวนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้อสังหาริมทรัพย์ในเมียนมามีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีการขยายพื้นที่เมืองเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโอกาสในอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ ซึ่งจะมีโอกาสเข้ามาทดแทนสินค้านำเข้าที่มีราคาสูงขึ้นเพราะค่าเงินจ๊าดที่อ่อนค่าลง

และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและพฤติกรรมที่หลากหลายของผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงธุรกิจต่างๆ จะมีการใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ ดังนั้นเมียนมาจึงมีความต้องการสถานศึกษาที่สามารถพัฒนาแรงงานเพื่อตอบสนองความจำเป็นในการพัฒนาประเทศที่หลากหลาย เช่น การศึกษาขั้นสูง การฝึกอบรมขั้นสูง โดยปัจจุบันโรงเรียนที่ให้การศึกษาด้านอาชีวศึกษา การฝึกอบรม และการศึกษาขั้นสูงได้เปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ 100 %

เนื่องจากประเทศต้องการพัฒนาทุนทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มอุปทานแรงงานที่ต้องการความชำนาญ สำหรับโอกาสทางธุรกิจอีกประเภทที่น่าจับตามองคืออุตสาหกรรมทางการแพทย์ สุขภาพและความงาม เช่น คลินิกรักษาโรคเฉพาะทาง โรงพยาบาลศูนย์สุขภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการมีสุขภาพดีของประชาชนเมียนมาที่ตื่นตัวในเรื่องสุขภาพและมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น

2.โอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ : ในภาพรวมปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมในเมียนมามีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งรวมถึงประเทศไทย

โดยมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิว (Kyaukphyu) ตั้งอยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 400 กิโลเมตร ในเมืองเจ้าผิว รัฐยะไข่ มีขนาดพื้นที่ 120 ตารางกิโลเมตร 2.โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (Thilawa) ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองย่างกุ้งประมาณ 25 กิโลเมตร ริมแม่น้ำย่างกุ้ง มีขนาดพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร

โดยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเมียนมา และประเทศญี่ปุ่น และ 3. โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei) ตั้งอยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้งไปทางตอนใต้ 614 กิโลเมตรตั้งอยู่ที่เมืองทวาย ภูมิภาคตะนาวศรี มีขนาดพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในปัจจุบัน ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลเมียนมา ประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น

ทั้งหมดนี้เป็นโครงการสำคัญทางยุทธศาสตร์ในแง่การขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ไทยมีประสบการณ์และมีความชำนาญที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมในโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมหนักและโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกทวายที่จะเป็นความหวังของประเทศไทยที่จะเชื่อมการขนส่งระหว่างทะลอันดามันและอ่าวไทยเพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยต่อไป

สุดท้ายนี้ทางคณะยังมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจและไม่สามารถจะบรรยายเรื่องราวได้ทั้งหมดในบทความการสำรวจเส้นทางการค้าการลงทุนในประเทศเมียนมา ที่สร้างโอกาสสำหรับนักลงทุนจำนวนมากที่ยังรอการลงทุนเพื่อพัฒนาและสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศเมียนมาและตลาดต่างประเทศ ทั้งในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง การศึกษา จนถึงผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ ที่นับวันจะมีความสำคัญมากในกลุ่มประเทศอาเซียน

ดังนั้นทางคณะจึงเชิญชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่ เว็ปไซต์ https://toi.boi.go.th หรือติดต่อปรึกษาการลงทุนไทยในต่างประเทศโดยตรงที่ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เบอร์ อีเมล์ [email protected]