posttoday

CLMV เติบโตในอัตราที่ชะลอลง จากความเสี่ยงภายนอกและความท้าทายรายประเทศที่สูงขึ้น

24 กันยายน 2562

โดย Economic Intelligence Center (EIC)  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

โดย Economic Intelligence Center (EIC)  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงราว 6-7% ในปี 2019 และ 2020 ท่ามกลางความเสี่ยงภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าเริ่มส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวี

สะท้อนจากมูลค่าส่งออกรวมของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที่หดตัวลง 8%YOY ในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2019 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในเอเชีย แต่การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงเพิ่มขึ้น

โดยสงครามการค้าจะมีส่วนช่วยเร่งแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีโดยเฉพาะในเวียดนาม นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการจะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และช่วยบรรเทาผลลบของการชะลอตัวของภาคส่งออก

ในขณะเดียวกัน การขยายตัวของชุมชนเมืองและกลุ่มชนชั้นกลางจะเป็นปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อในประเทศในระยะยาว รวมถึงความต้องการสินค้าและบริการที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีคือเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงกว่าที่คาด

โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนซึ่งเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีพึ่งพาค่อนข้างมาก รวมถึงความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

เศรษฐกิจกัมพูชาจะยังเติบโตได้ที่ระดับราว 6.8% ในปี 2019 แต่เริ่มเห็นการชะลอตัวลงในระยะกลาง ความคืบหน้าของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการส่งออกและ FDI

ในระยะข้างหน้า ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี Everything But Arms (EBA) จากสหภาพยุโรป ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่ดีในระยะกลาง อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจกัมพูชาคือการควบคุมดูแลความเสี่ยงของสถาบันการเงินรายย่อยที่อยู่นอกระบบ

เศรษฐกิจลาวจะกลับมาขยายตัวที่ราว 6.4% ในปี 2019 และคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น 6.5% ในปี 2020 หลังจากที่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตชะลอลงในปี 2018 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจลาวคือ การส่งออกไฟฟ้า การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และภาคบริการ ซึ่งนำโดยภาคค้าส่ง-ค้าปลีกและการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจลาวมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ปัญหาหนี้ต่างประเทศและหนี้สาธารณะที่ค่อนข้างสูงซึ่งทำให้ลาวถูกปรับลดอันดับเครดิตประเทศในช่วงที่ผ่านมา

เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตชะลอลงเล็กน้อยที่ราว 6.4% ในปีงบประมาณการเงิน 2018/19 (FY2018/19) ด้วยแรงส่งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในประเทศ การปฏิรูปและการลงทุนจากภาครัฐคาดว่าจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2020 ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจเมียนมามาจากปัจจัยภายนอก โดยการชะลอตัวของการค้าโลกเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกและ FDI

เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงราว 6.5% ในปี 2019 และในระยะกลาง สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนส่งผลบวกต่อการส่งออกและ FDI มายังเวียดนาม แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจหันมาเพ่งเล็งเวียดนามเป็นเป้าหมายรายต่อไปในการขึ้นภาษีได้ ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้อาจส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเวียดนามซึ่งพึ่งพาวัตถุดิบสินค้าเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้

EIC Online: www.scbeic.com