posttoday

เล็งเชื่อมน่านฟ้าสปป.ลาว-เมียนมา รองรับปริมาณการบิน หนุนท่องเที่ยวไทย

02 กันยายน 2562

บวท.ลุยแผนเพิ่มปริมาณการบิน 30% หวังกระตุ้นท่องเที่ยวไทย เดินหน้าเจรจาเมียนมา-สปป.ลาว เชื่อมการบินหนุนการเติบโตตลาดอาเซียน ชี้เวียดนาม-เมียนมา ขุมทรัพย์การบินCLMV

บวท.ลุยแผนเพิ่มปริมาณการบิน 30% หวังกระตุ้นท่องเที่ยวไทย เดินหน้าเจรจาเมียนมา-สปป.ลาว เชื่อมการบินหนุนการเติบโตตลาดอาเซียน ชี้เวียดนาม-เมียนมา ขุมทรัพย์การบินCLMV

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่วิทยุการบินแห่งประเทศไทย(บวท.) เปิดเผยว่า ตลาดการบินอาเซียนในภาพนวมนั้นจะยังเติบโตได้ดีโดยเฉพาะตลาดการบินในประเทศเวียดนามและเมียนมา ซึ่งมีเศรษฐกิจที่เติบโต โดยมีประชากรรวมกันมากกว่า 140 ล้านคน จะช่วยผลักดันตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) เพราะดีมานต์ในประเทศกลุ่มนี้ขยายตัวตามขนาดเศรษฐกิจ ดังนั้นจะเห็นเที่ยวบินตรง เอเชีย-ยุโรป ใน 2 ประเทศนี้เพิ่มขึ้น ถือเป็นที่น่าจับตามองของนักลงทุนด้านการบิน ขณะที่อินโดนีเซียมีประชากรมากกว่า 260 ล้านคนยังมีแนวโน้มเติบโตดี ส่วนไทยยังมีอัตราการเติบโตลดลงจากปัญหาสนามบินที่เริ่มแออัด ยังต้องรอการขยายสนามบินและสร้างสนามบินใหม่ เพื่อรองรับดีมานต์การบินในภูมิภาค

ทั้งนี้บวท.ได้เริ่มบริหารน่านฟ้าแบบใหม่เป็นการควบรวมน่านฟ้าอากาศยานกับน่านฟ้าทางความมั่นคง รองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มขึ้นและส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มแล้วในภาคใต้ โดยเพิ่มเที่ยวบินได้ 30% จาก 600-700 เที่ยวบิน/วัน เป็น 800-900 เที่ยวบิน/วัน ซึ่งหลังจากนี้จะเริ่มเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเพิ่มศักยภาพของตลาดการบินในภูมิภาคและเชื่อมโยงข้อมูลการบินแบบไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN Sky) ในปีนี้จะเริ่มเจรจากับสปป.ลาว เพื่อเชื่อมน่านฟ้าและเพิ่มปริมาณเที่ยวบินในภาคอีสานของประเทศ จากนั้นจะเจรจากับประเทศเมียนมา เพื่อเพิ่มเที่ยวบินน่านฟ้าฝั่งตะวันตกของไทย ก่อนจะเริ่มแผนเพิ่มปริมาณการบินในภาคเหนือของไทยต่อไป

ขณะที่นายอัมดุลลา สารินทอน ผู้อำนวยการบริหารจราจรทางอากาศ กองจราจรทางอากาศ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว กล่าวว่า ตลาดการบินสปป.ลาว มียอดเที่ยวบินเติบโตต่อเนื่องที่เฉลี่ย 10% ต่อปี โดยปัจจุบันมีเที่ยวบินทั่วประเทศราว 1,200 เที่ยวบิน/วัน สัดส่วนเที่ยวบินจีนมากสุด 30%

ขณะที่ไทยมีเที่ยวบิน 3,000 เที่ยว/วัน โดยคาดการณ์เที่ยวบินในอนาคตในปี 2564 จะอยู่ที่ 1,800 เที่ยวบินต่อวัน เติบโต 50% และจะเพิ่มเป็น 2,000 เที่ยวบินต่อวัน ในปี 2569

ด้านการขยายสนามบินนั้นจะเริ่มกับสนามบินเวียงจันทน์ แบ่งเป็นขยายรันเวย์และขยายอาคารผู้โดยสาร(Terminal) โดยมีประเทศญี่ปุ่นช่วยลงทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573 รองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เป็น 200 เที่ยวบิน/วัน จากปัจจุบันสนามบินเวียงจันทน์รองรับได้ 100-120 เที่ยวบิน/วัน ส่วนอุปสรรคการบริหารจราจรทางอากาศของ สปป.ลาวนั้น ปัจจุบันขาดแคลนบุคลากรด้านการบินจำนวนมาก จำเป็นต้องเร่งเพิ่ม
บุคลากรภายใน 5 ปี อีกทั้งต้องเร่งขยายการรองรับเที่ยวบินเพราะใกล้เต็มขีดเพดานที่ประเทศรองรับได้แล้ว