posttoday

สถานการณ์ส่งออกไทย–ซีแอลเอ็มวี 3 ปียังไหว-ตลาดเวียดนามโตต่อเนื่อง

03 สิงหาคม 2562

DITP กางตัวเลขส่งออกตลาดเพื่อนบ้าน 6 เดือนแรกปีนี้มูลค่าแตะ 4.33 แสนล้านบาท พร้อมดึง 9 ประเทศร่วมระดมสมองเสริมใยเหล็กแบรนด์ “อาเซียน” ผงาดเวทีโลก

DITP กางตัวเลขส่งออกตลาดเพื่อนบ้าน 6 เดือนแรกปีนี้มูลค่าแตะ 4.33 แสนล้านบาท พร้อมดึง 9 ประเทศร่วมระดมสมองเสริมใยเหล็กแบรนด์ “อาเซียน” ผงาดเวทีโลก

นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่ากลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที : CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ยังเป็นพื้นที่ดาวเด่น และน่าสนใจของนักลงทุนทั่วโลก จากทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์และทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของภูมิภาค

สำหรับในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2562 (มกราคม – มิถุนายน) การส่งออกของประเทศไทยไปยัง CLMVT ยังเติบโตใกล้เคียงกับปี 2560 และปี 2561 โดยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.33 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 4.36 แสนล้านบาท และปี 2560 มีมูลค่า 4.11 แสนล้านบาท

โดยเวียดนาม เป็นประเทศที่มูลค่าการส่งออกของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ใน 6 เดือนแรกของปี 2560 , 2561 และ 2562 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.8 , 1.85 และ 1.93 แสนล้านบาทตามลำดับ และกัมพูชา มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท 1.07 แสนล้านบาท และ 1.09 แสนล้านบาทตามลำดับ

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการใน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันและเชื้อเพลิง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งถือว่ายังมีมูลค่าการส่งออกและเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง

?นายวิทยากร กล่าวเพิ่มเติมว่า DITP ยังได้จัดทำยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานด้านการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้แนวคิด “Stronger Together” หรือ เติบโตไปด้วยกัน เพื่อรับมือผลกระทบจากสงครามการค้าในรูปแบบต่างๆที่มีต่อ CLMVT และอาเซียนที่กำลังทวีความรุนแรงต่อเนื่อง

โดยแนวคิดนี้จะช่วยให้ไทยและประเทศสมาชิกสามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอื้อโอกาสและสิทธิประโยชน์ต่างๆในรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน พร้อมทั้งสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างก้าวหน้าและยั่งยืน

ล่าสุด DITP ร่วมกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (TPSO) ร่วมผลักดันให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ แนวคิด และประสบการณ์ รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ผู้นำทางเศรษฐกิจ จากทั้งภาครัฐและเอกชนภายใต้ โครงการ CLMVT Executive Program on New Economy เพื่อสร้างครือข่ายและโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศ CLMV รวมทั้งสะท้อนปัญหา อุปสรรค และนโยบายการแก้ไขที่จะช่วยให้ก้าวทันกับบริบทของการค้าโลก

นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าวเป็นโครงการที่รัฐบาลมุ่งเน้นส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Strategic Partnership) ระหว่างประเทศไทยและประเทศ CLMV กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

โดยในปีนี้ เป็นการจัดครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อโครงการ CLMVT Plus Executive Program on New Economy 2019 ระหว่างวันที่ 3 - 7 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ พร้อมขยายผลและต่อยอดจากปีที่ผ่านมาในหลายมิติ

โดยการขยายกลุ่มประเทศเป้าหมายผู้ร่วมโครงการจาก CLMVT ต่อยอดสู่ ASEAN ซึ่งจัดว่าเป็น Emerging Market มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญในตลาดโลก รวมถึงการขยายหลักสูตรเป็น 5 วัน โดยร่วมกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นำเสนอการใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ หรือ Cross-Border Digital Trade สำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่ อันสอดคล้องกับวาระสำคัญที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประธานอาเซียน จึงได้กำหนดจัดงานภายใต้แนวคิดหลัก ASEAN Branding

"ความสำคัญของ Branding ในอาเซียนมีความสำคัญ ด้วยเป็นฐานผู้บริโภคที่น่าสนใจจากประชากรอาเซียนรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าชั้นนำ แต่ยังขาดอัตลักษณ์บนเวทีการค้าโลก การสร้าง ASEAN Branding ที่ยั่งยืน โดยโครงการฯ ได้เชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน รอสส์ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการสร้างแบรนด์และกลยุทธ์การตลาด ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกเป็นอย่างดี มาทำ Workshop การสร้างแบรนด์ และสัมมนา Cross-Border Digital Trade Conference นำเสนอการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน และกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ" นายนันทพงษ์ กล่าว

?นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการบริหารสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าในฐานะที่เคยเป็นผู้เข้าร่วมโครงการ CLMVT Executive Program on New Economy มาตั้งแต่ปีแรก และได้เห็นถึงการเติบโตของโครงการ จากการสร้างเครือข่ายในกลุ่มประเทศ CLMVT และขยายสู่กลุ่มอาเซียน ทำให้เกิด Common Stand และ Identity บนเวทีโลก