posttoday

ประเดิม 'เอ็มโอยู' ไทย - สปป.ลาว ร่วมช่วยเหลือเครื่องบินประสบภัยระหว่าง 2 ชาติ

13 กรกฎาคม 2562

ไทย จับมือ สปป.ลาว บันทึกข้อตกลงด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัยตามกฏของ ICAO เพื่อช่วยผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที พร้อมขยายผลคลุม CLMV

ไทย จับมือ สปป.ลาว บันทึกข้อตกลงด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัยตามกฏของ ICAO เพื่อช่วยผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที พร้อมขยายผลคลุม CLMV

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ว่าด้วยความตกลงด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานที่ประสบภัย โดยมี นายบุญจัน สินทะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว ร่วมลงนาม

โดยหลังจากนี้จะต้องมีการลงนามเพิ่มกับประเทศกัมพูชา เวียดนาม พม่า ต่อไป

นายอาคม กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้มอบสัตยาบันสาร เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ Convention on International Civil Aviation ซึ่งตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว มีข้อกําหนดให้รัฐผู้ทําสัญญาแต่ละรัฐต้องรับรองที่จะจัดให้มีกระบวนการช่วยเหลือแก่อากาศยานประสบภัยในอาณาเขตของตนเท่าที่จะสามารถปฏิบัติได้ภายใต้การกํากับของรัฐและรัฐผู้ทําสัญญาแต่ละรัฐจะร่วมมือและประสานกันในการให้ความช่วยเหลือแก่อากาศยานที่ประสบภัย

โดยมีมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติตามภาคผนวก 12 ว่าด้วยการค้นหาและช่วยเหลือขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติให้การค้นหาและช่วยเหลือเป็นไปด้วยความปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

อย่างไรก็ตามหลังจาก ICAO ได้เข้ามาตรวจสอบการกํากับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทย ภายใต้โครงการ Universal Safety Oversight Audit Program Continuous Monitoring Approach (USOAP CMA)

พบว่า ประเทศไทยยังมีข้อบกพร่องในการกํากับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน และจากผลดังกล่าวทําให้ประเทศไทยปรับโครงสร้างหน่วยงานด้านการบินให้ชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ในเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 ICAO ได้ประกาศให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสําคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns) แสดงให้เห็นถึงการกํากับดูแลความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทย ได้กลับมาได้รับความน่าเชื่อถือต่อนานาประเทศ

ทั้งนี้ งานด้านการค้นหาและช่วยเหลือเป็นส่วนหนึ่งที่ ICAO ให้ความสําคัญ เนื่องจากเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยของผู้ใช้บริการการเดินอากาศ อีกทั้งมีข้อกําหนดให้รัฐภาคีแต่ละรัฐต้องมีการประสานงานกับหน่วยค้นหาและช่วยเหลือที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อขยายความเป็นไปได้ที่จะช่วยผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตามปัจจุบันการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะการบินระหว่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดและรักษาไว้ซึ่งมิตรภาพและความเข้าใจต่อกันในระหว่างชาติ และพลเมืองโลก ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะสนับสนุนให้การบินพลเรือนได้ วิวัฒนาการไปในทิศทางที่ปลอดภัยและมีมาตรฐานสากล

ดังนั้น การจัดทําความตกลงฯ ระหว่างประเทศจึงมีความสําคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกันสามารถบังเกิดผลเป็นรูปธรรมได้

“การจัดทําความตกลงด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในครั้งนี้ จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างความเข้าใจร่วมกันในการปฏิบัติงาน และเพิ่มประสิทธิภาพให้การค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยระหว่างสองประเทศ ทําให้ผู้ใช้บริการอากาศยานทั้งในและระหว่างประเทศเกิดความเชื่อมั่น ยกระดับความปลอดภัยด้านการบินให้มีมาตรฐาน ในระดับสากล รวมทั้งสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ”นายอาคม กล่าว