posttoday

11 ปีข้างหน้า 28 ล้านอาชีพหายจากตลาดอาเซียน

21 มิถุนายน 2562

‘พาณิชย์’ จัดสัมมนา AHEAD คุณภาพสากล ยกระดับแรงงานไทย สร้างแนวทางพัฒนาแรงงานอาเซียนยุค 4IR

‘พาณิชย์’ จัดสัมมนา AHEAD คุณภาพสากล ยกระดับแรงงานไทย สร้างแนวทางพัฒนาแรงงานอาเซียนยุค 4IR

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในฐานะประธานเปิดงานสัมมนาระดับนานาชาติ ‘Symposium on ASEAN Human Empowerment And Development’ หรือ ‘AHEAD’ ว่าการจัดงานฯครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2562 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมการสร้างความตระหนักรู้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และแลกเปลี่ยนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีต่อแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพในอาเซียน

พร้อมกันนี้ ยังได้หารือแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยผลที่ได้รับจากการสัมมนาในครั้งนี้ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย จะนำมาใช้ประกอบการจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบการวิชาชีพอาเซียนเพื่อรับมือกับ 4IR และเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนให้ความเห็นชอบและเสนอผู้นำอาเซียนรับทราบต่อไป

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในยุคอุตสาหกรรม 4.0 หรือยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) เป็นผลจากการปฏิวัติดิจิทัลผสานการเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น จากการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาทดแทนแรงงานมนุษย์ การเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตเข้ากับทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะราย การพัฒนาสินค้าตามความต้องการเฉพาะบุคคล การสร้างเศรษฐกิจแบบแบ่งปันผ่านการใช้งานแพลตฟอร์มบนอุปกรณ์ต่างๆ

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการใช้นวัตกรรมทางชีวภาพอำนวยความสะดวกในการจัดลำดับทางพันธุกรรมและปรับแต่งพันธุกรรมเพื่อพัฒนาวิธีบำบัดโรคสำหรับคนไข้แต่ละราย เป็นต้น โดยการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ถือเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ก่อให้เกิดอาชีพที่ใช้ระบบดิจิทัลเป็นพื้นฐาน ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการจากการเพิ่มผลิตภาพการผลิต จากการทดแทนแรงงานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม คาดการณ์ว่าแรงงานประมาณ 375 ล้านคนทั่วโลกอาจต้องเปลี่ยนอาชีพภายในปี 2573 สำหรับอาเซียน ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออาชีพประมาณ 28 ล้านอาชีพที่ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปในอนาคต

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงาน ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับความคาดหวังของภาคเอกชนอาเซียน ในการยกระดับทรัพยากรมนุษย์ ผลกระทบของ 4IR ต่อภาคอุตสาหกรรม ทรัพยากรมนุษย์และการจ้างงาน บทบาทของอาชีวศึกษาต่อการพัฒนาและสร้างเสริมทักษะแรงงาน รวมทั้ง มีการหารือระหว่างผู้เชี่ยวชาญประเทศต่างๆ ในประเด็นความท้าทาย ผลกระทบ โอกาสจากยุค 4IR การยกระดับแรงงานทักษะ นโยบายและแนวทางการพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น พร้อมจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมล้ำสมัยจากสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย อาทิ หุ่นยนต์บริการขนส่งสำหรับโรงพยาบาล ซอฟต์แวร์โซลูชั่นบริหารงานบุคคลออนไลน์ โปรแกรมเพื่อนคู่กายร้านค้าออนไลน์ และ mobile application สำหรับการจองคิวอีกด้วย

“เพื่อให้แรงงานมีความพร้อมรับมือต่ออาชีพในอนาคต การพัฒนาทักษะที่มีอยู่ (Reskilling) และเสริมทักษะใหม่ (Upskilling) ของแรงงานให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยผ่านการฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านเทคนิค ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการ ทักษะด้านสังคมและการสื่อสารจึงเป็นสิ่งจำเป็น สำหรับไทย นอกจากการประกาศนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระดับความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีของคนในประเทศแล้ว ในวาระการเป็นประธานอาเซียนของไทย สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน-ประเทศไทย ซึ่งรับหน้าที่เป็นประธานในส่วนของภาคธุรกิจของอาเซียน จึงเสนอให้มีการจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบวิชาชีพของอาเซียนเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยเป็น 1 ใน 5 ประเด็นผลักดันด้านเศรษฐกิจเพื่อเตรียมความพร้อมของอาเซียนสู่อนาคต” นายบุณยฤทธิ์ กล่าว