posttoday

หนังสือพิมพ์กับการเมือง กระบอกเสียงชาวเวียดนาม

27 มีนาคม 2562

สื่อมวลชนในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมาก

เรื่อง มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สื่อมวลชนในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมากในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและสังคม โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำในการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นความรู้ตลอดจนสะท้อนปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้นกับประชาชน แม้ว่าจะสุ่มเสี่ยงต่อการท้าทายผู้มีอำนาจทางการเมืองก็ตาม ในอดีตสื่อมวลชนไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเล่าข่าว หยิบเอาสถานะเฟซบุ๊ก คลิป เพื่อเล่าเหตุการณ์รายวันพื้นๆ เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่วิเคราะห์และเสนอเนื้อหาในเชิงลึก หลายครั้งหนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือซึ่งมีพลังขับเคลื่อนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ในยุคที่ฝรั่งเศสเข้ามายึดครองเวียดนาม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีน สังคมเวียดนามเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือการก่อตั้งและขยายฐานการศึกษาเพื่อมวลชน ซึ่งการศึกษานี้เองที่ต่อมาจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างนักหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลต่อสังคมเวียดนาม นอกจากนี้ในไซ่ง่อน (นครโฮจิมินห์ปัจจุบัน) อาณานิคมฝรั่งเศสได้นำเอาเทคโนโลยีการทำหนังสือพิมพ์เข้ามายังอินโดจีน ทำให้เวียดนามมีหนังสือพิมพ์เล่มแรก “Gia Dinh Bao” ตั้งแต่ ค.ศ. 1865 จากนั้นกิจการหนังสือพิมพ์ในเวียดนามที่ผลิตโดยปัญญาชนชาวเวียดนามก็ขยายตัวมากขึ้น โดยมีทั้งหนังสือพิมพ์การเมือง เศรษฐกิจ รวมไปถึงหนังสือพิมพ์ผู้หญิงฉบับแรก “Nu Gioi Chung” ตั้งแต่ ค.ศ. 1918 มีนักหนังสือพิมพ์สตรีคนแรกใช้นามปากกาว่า เซืองเหงวียดแอ็งห์ (Suong Nguyet Anh) ซึ่งนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงและสังคม

การใช้หนังสือพิมพ์ยังขยายตัวจากภาคใต้ไปยังภาคเหนือของเวียดนาม ปัญญาชนเวียดนามหลายกลุ่มหลากอุดมการณ์ต่างใช้หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางความคิด แม้ถูกรัฐบาลอาณานิคมสกัดกั้นด้วยการปิดหนังสือพิมพ์จำนวนมากหลายครั้ง แต่ชาวเวียดนามก็ยังหาวิธีการทำหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ในกลุ่มนักชาตินิยมคอมมิวนิสต์เคยผลิตหนังสือพิมพ์ทำมืออย่างลับๆ แม้ในช่วงที่มีการปราบปรามกลุ่มชาตินิยมอย่างหนัก นักชาตินิยมที่ถูกกักขังในเรือนจำก็ใช้หนังสือพิมพ์ที่เขียนและบอกเล่ากันปากต่อปาก บางครั้งนักเขียนจะแอบเขียนและคัดลอกด้วยลายมือบนเศษกระดาษแผ่นเล็กๆ เช่น กระดาษมวนบุหรี่ การเคลื่อนไหวผ่านช่องทางเหล่านี้เป็นเครื่องมือเผยแพร่และทำความเข้าใจแนวคิดและการต่อสู้กับอาณานิคม จนทำให้เรือนจำกลับตาลปัตรเป็นศูนย์กลางของการต่อต้านรัฐบาลอาณานิคม

ลักษณะการเติบโตของหนังสือพิมพ์ในฐานะสื่อที่เป็นคบไฟส่องสว่างให้กับสังคมนั้นเกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ในบางช่วงเวลาสื่อมวลชนจะถูกกดดันและควบคุมโดยรัฐบาลแต่ก็มีนักข่าวที่ยืนหยัดทำงานเพื่อเสนอข้อเท็จจริงให้สังคม เช่น ในอินโดนีเซียยุคที่อยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการซูฮาร์โต้ก็มีนิตยสาร TEMPO ก่อตั้งโดยคุณวรรณ โมฮาหมัด ที่นำเสนอข่าวสารและประเด็นทางการเมืองจนถูกสั่งให้ปิดตัวลงด้วยข้อหาภัยต่อความมั่นคง หรือสื่อมวลชนในเมียนมาที่ถูกควบคุมช่วงรัฐบาลทหารกุมอำนาจนานหลายสิบปีก็ใช้หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือในการนำเสนอข้อเท็จจริงให้แก่สังคม

ในปัจจุบัน แม้ว่าสื่อมวลชนเวียดนามจะถูกตรวจสอบการนำเสนอข่าวโดยทางการ แต่ก็มีนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เวียดนามรุ่นใหม่ที่ยังพยายามใช้สื่อทางเลือกเพื่อสะท้อนปัญหาให้สังคมได้รับรู้

ในภาวะที่โลกกำลังหมุนเปลี่ยนไป น่าเสียดายที่ยุคนี้เป็นยุคตะวันตกดินของสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตเราจะยังคงมีสื่อที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อไม่ให้อาเซียนเป็นเพียงเรื่องสนใจตามกระแสชั่วครั้งชั่วคราวแล้วเงียบหายไป

หนังสือพิมพ์กับการเมือง กระบอกเสียงชาวเวียดนาม หนังสือพิมพ์ Phu Nu Tan Van หนังสือพิมพ์สตรีของเวียดนาม - ภาพ : หอสมุดแห่งชาติเวียดนาม