posttoday

'นาบิลา'ผู้ก่อตั้ง นวัตกรรมการเงินอินโดนีเซีย

25 มีนาคม 2562

ในยุคที่การทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในอินโดนีเซีย “นาบิลา อัลซากอฟ”

เรื่อง ดุสิดา วรชาติเดชชัย

ในยุคที่การทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในอินโดนีเซีย “นาบิลา อัลซากอฟ” และทีมงานตัดสินใจจัดตั้งโดคุ (Doku) บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการเงินออนไลน์ที่กลายเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของวงการอี-คอมเมิร์ซในอินโดนีเซีย ซึ่งมีผู้ใช้บริการกว่า 1 ล้านราย

เรื่องราวการก่อตั้งโดคุเกิดขึ้นหลังจากเหตุระเบิดในบาหลี ปี 2002 ซึ่งขณะนั้นนาบิลาทำงานในฐานะคณะกรรมการด้านการท่องเที่ยวของบาหลี เพื่อหามาตรการเยียวยาหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนั้น เธอเสนอโครงการสร้างพื้นที่ออนไลน์สำหรับการขายสินค้าและการค้าชายแดน ทว่าปัญหาใหญ่คือระบบธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ยังไม่เป็นที่นิยม และถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูงสำหรับสถาบันการเงินในอินโดนีเซีย ทำให้โครงการของเธอต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย แต่เธอยังเดินหน้าคิดค้นช่องทางธุรกรรมออนไลน์ที่สามารถดำเนินการจ่ายได้ในสกุลเงินรูเปียห์ต่อไป

ในที่สุดนาบิลาได้ก่อตั้งโดคุขึ้นในปี 2007 และดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งมีหน้าที่วางแผนธุรกิจและการพัฒนาองค์กร ปัญหาที่โดคุต้องเผชิญในช่วงแรก คือ บริษัทส่วนใหญ่มักปฏิเสธที่จะดำเนินธุรกิจออนไลน์ กระทั่งร้านขายดอกไม้เล็กๆ แห่งหนึ่งตัดสินใจเลือกใช้บริการ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของโดคุที่ค่อยๆ เป็นที่รู้จักของชาวอินโดนีเซีย ถัดมาในปี 2012 โดคุได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากธนาคารกลางแห่งประเทศอินโดนีเซีย ก่อนจะเปิดตัวบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจรในปีถัดมา ร่วมกับสถาบันการเงินกว่า 20 แห่ง

ปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่ของโดคุกว่า 80% ล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรชั้นนำในอินโดนีเซีย อย่างสายการบินการูดา อินโดนีเซีย สายการบินแอร์เอเชีย แกร็บ ออปโป้ และอโกด้า ในขณะเดียวกันโดคุก็ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างพื้นที่ให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่ได้มีหน้าร้านสำหรับขายของอย่างเป็นทางการด้วยการเปิดตัวบริการมายช็อตคาร์ท (MyShortCart) สำหรับการขายสินค้าออนไลน์โดยเฉพาะ ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้ามาวางขายสินค้าในแพลตฟอร์มดังกล่าวกว่า 3.5 หมื่นราย

จากนั้นโดคุก็ได้ฉลองอีกหนึ่งหลักชัยกับความสำเร็จที่มียอดการทำธุรกรรมครบ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเดือน มิ.ย. 2013 และดำเนินการอยู่เคียงข้างผู้ใช้บริการชาวอินโดนีเซียมานานนับทศวรรษ

สำหรับเรื่องราวของนาบิลา ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของเธอเริ่มต้นจากการเรียนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ในระดับอนุปริญญา ก่อนจะหันมาเรียนด้านวรรณคดีเปรียบเทียบในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเมอร์ดอช ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ต่อสิ่งใหม่อยู่เสมอผลักดันให้เธอได้ทำความรู้จักกับเทคโนโลยีที่มีส่วนพลิกโฉมหน้าของการเงินอินโดนีเซียเข้าสู่ยุคสมัยของสังคมไร้เงินสด

จากบทสัมภาษณ์จากนิตยสารเพรสทีจ อินโดนีเซีย เธอได้เปิดเผยว่า เธอมักจะรู้สึกสนุกไปกับการได้ทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งการลองผิดลองถูกนี้ทำให้เธอได้ท้าทายตัวเองและลบล้างภาพจำผิดๆ ในสังคมที่มักมองว่าผู้หญิงกับเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เข้ากันไม่ได้ เนื่องจากความกดดันจากสังคมที่ต้องการให้ผู้หญิงเป็นแม่และภรรยาที่ดีเพื่อผู้ดูแลรับผิดชอบครอบครัว มากกว่าการทำหน้าที่นอกบ้าน ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งเสริมผู้หญิงในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ถูกครอบงำ

โดยแม้ว่าการเอาชนะอคติทางเพศที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก แต่นาบิลาก็หวังว่าจะได้เห็นผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีของอินโดนีเซียมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเธอมีส่วนร่วมในการผลักดันและมอบพื้นที่ให้กับผู้หญิงในอุตสาหกรรมมาโดยตลอด เพราะเธอเชื่อในพลังและความสามารถของผู้หญิงที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร