posttoday

ไทย-กัมพูชา ปั้น‘อาเซียน วัน เดสทิเนชั่น’

15 มีนาคม 2562

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จัดสัมมนา

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จัดสัมมนา “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองชายแดน” ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวจาก 5 จังหวัดในเขตพัฒนา การท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ และผู้แทนจากจังหวัดพระวิหาร จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา เพื่อสร้าง “อาเซียน วัน เดสทิเนชั่น”

ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ให้ อพท.ปฏิบัติงานในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand) และผู้ช่วยเลขาคณะกรรมการเขตพัฒนา การท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ในปี งบประมาณ 2562 จึงได้กำหนดแผนดำเนินงานพัฒนาชุมชนในเขตคลัสเตอร์อารยธรรมอีสานใต้รวม 4 กิจกรรม คือ 1.กิจกรรมการพัฒนาชุมชนต้นแบบและชุมชนขยายผลในพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ 2.กิจกรรมการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน 3.กิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ 4.กิจกรรมการดำเนินงานร่วมกับเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้

ทั้งนี้ เป้าหมายการทำงานในพื้นที่อีสานใต้ อพท.ต้องการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน นำองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวเข้าไปพัฒนาให้ความรู้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ และเพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการการท่องเที่ยวให้กับชุมชนใน 5 จังหวัดของอีสานใต้ คือ จ.นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ให้มีการดำเนินการการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน และใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือสร้างรายได้เสริมให้แก่ชุมชน

สำหรับการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการตอบแนวทางอาเซียนที่ต้องการเป็นจุดหมายปลายทางเดียว หรือวัน เดสทิเนชั่น (One Destination) อพท.เห็นศักยภาพการจัดทำและพัฒนาเส้นทางอารยธรรมอีสานใต้แห่งนี้ ให้เชื่อมต่อไปยังประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ดังนั้น ในการจัดสัมมนา จึงได้เชิญตัวแทนภาครัฐและภาคเอกชนจากประเทศกัมพูชาเข้าร่วมสัมมนา และร่วมเดินทาง (Fam Trip) สำรวจชุมชนที่ อพท.เตรียมที่จะพัฒนายกระดับให้เป็นชุมชนต้นแบบในโอกาสต่อไป

ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) ความสำคัญของ GSTC คือ ความพยายามจะสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนว่า ควรดำเนินการอย่างไร ดังนั้น GSTC จึงเป็นแนวทางขั้นพื้นฐานที่ อพท.จะนำมาปรับใช้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืนที่สามารถถือปฏิบัติได้ โดยครอบคลุมใน 4 มิติ คือ 1.การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน 2.เพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบเชิงลบทางสังคม-เศรษฐกิจแก่ชุมชนท้องถิ่น 3.เพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบเชิงลบทางวัฒนธรรมแก่ชุมชนและนักท่องเที่ยว และ 4.เพิ่มผลประโยชน์และลดผลกระทบด้านลบทางสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ในแนวทางการทำงานจะมีตัวชี้วัดที่องค์การการท่องเที่ยวโลก หรือ UNWTO ให้การรับรอง ได้แก่ หลักเกณฑ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำหรับแหล่งโรงแรม บริษัทนำเที่ยว ตลอดจนแนวทางการรับรองต่างๆ ที่สะท้อนถึงการมีมาตรฐานทั้งทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวโยงถึงการแก้ไขปัญหาความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยในการทำงาน อพท.จะประเมินศักยภาพชุมชน และผู้ประกอบการ พร้อมจัดระดับที่จะต้องพัฒนาปรับปรุง หรือส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นระหว่างการดำเนินงานจะมีการประเมินผลเป็นระยะๆ

สำหรับเขตอารยธรรมอีสานใต้ในการดำเนินงานการพัฒนาของ อพท. ตั้งเป้าหมายพัฒนาชุมชนต้นแบบให้ได้จังหวัดละ 3 ชุมชน ภายในปี 2563 โดยนอกจากแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ชุมชนผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว เจ้าของวัฒนธรรม ต้องมีความสุข และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำท่องเที่ยว