posttoday

เมื่อข้าวเวียดนาม บุกตลาดโลก

13 มีนาคม 2562

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยหลายแห่งเสนอข่าวว่าเกษตรกรไทยกำลังนิยมปลูกข้าวหอมพันธุ์ JASMINE 85 ของเวียดนามที่รู้จักในชื่อ “ข้าวหอมพวง”

เรื่อง มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทยหลายแห่งเสนอข่าวว่าเกษตรกรไทยกำลังนิยมปลูกข้าวหอมพันธุ์ JASMINE 85 ของเวียดนามที่รู้จักในชื่อ “ข้าวหอมพวง” โดยเฉพาะที่ จ.นครสวรรค์ มีสัดส่วนผู้ปลูกข้าวชนิดนี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ข่าวข้าวหอม JASMINE 85 ในไทยยังเป็นที่สนใจในเวียดนามอีกด้วย

แม้พันธุ์ข้าวชนิดนี้ไม่ได้จดทะเบียนกับทางการไทย แต่ชาวนาไทยหลายคนยืนยันที่จะปลูกเพราะมีความเสี่ยงน้อย ต้นทุนต่ำ ให้ผลผลิตสูงโดยเฉพาะฤดูหนาว มีแนวโน้มราคาดีกว่าข้าวที่เคยปลูก สิ่งที่ทางการไทยกังวล คือ หากเกษตรกรไทยปลูกข้าวพันธุ์นี้มาก สายพันธุ์ข้าวไทยจะลดลง ถ้าแย่มากอาจถึงขั้นทำให้ข้าวไทยบางชนิดสูญพันธุ์

ทั้งนี้ ข้าว JASMINE 85 ใช้เวลาตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวเพียง 3 เดือน เมื่อเทียบกับข้าว กข ที่ใช้เวลามากกว่า แต่ไม่ใช่แค่ชาวนาไทย ยังมีชาวนาหลายประเทศนำข้าวชนิดนี้ไปปลูกด้วย ปรากฏการณ์นี้จึงไม่ได้เกิดที่ไทยเป็นที่แรก เพราะพันธุ์ข้าวเวียดนามมีชื่อเสียงอยู่มาก ไม่ว่า ST24 และ AGPPS103 ต่างก็เคยได้รางวัลมาแล้ว นอกจากนี้เวียดนามยังมีข้าวส่งออกอีกหลายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น OM3536 OM4900 IR64 ST3

ถ้าเรามองกลับไปที่สังคมเวียดนามจะพบว่าข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญไม่ต่างจากไทย ชาวเวียดนามเปรียบแผนที่ของประเทศเป็นคานหาบโดยปลายสองด้านเป็นกระบุงใส่ข้าว ชาวเวียดนามเชื่อว่าข้าวเป็นของขวัญจากพระเจ้าและเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ และผูกพันกับชาวเวียดนามมายาวนาน

ล่าสุด กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามตั้งเป้าส่งออกข้าวให้ได้ 6.5 ล้านตัน คาดว่ามีมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความน่าสนใจ คือ เวียดนามตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตทุกปี ขยายพื้นที่เพาะปลูกเพื่อตอบโจทย์ความต้องการประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลี เวียดนามยังส่งออกข้าวไปแอฟริกาและยุโรป

ถึงแม้รัฐบาลเวียดนามจะออกมาตรการช่วยเหลือชาวนาหลายอย่าง แต่ปัญหาการปลูกข้าวของเวียดนามก็มีมาก ในปัจจุบันนอกจากพื้นที่ปลูกข้าวมีแนวโน้มน้อยลงโดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เนื่องจากภาวะน้ำทะเลหนุน ในแง่การผลิตเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากยังใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

รัฐบาลเวียดนามพยายามช่วยชาวนาในสองทิศทาง คือ ช่วยเหลือชาวนารายย่อยให้อยู่ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้และขยายนาด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยมีเป้าหมายส่งออกข้าวคุณภาพทั่วโลก รัฐบาลยังออกแนวทางรักษาพื้นที่ผลิตข้าวและปกป้องเกษตรกรจากทุนต่างประเทศ เปิดโอกาสให้หน่วยงานวิจัยข้าวต่างชาติเข้ามาร่วมพัฒนาพันธุ์ข้าว ทำให้ได้พันธุ์ข้าวที่เหมาะจะปลูกในพื้นที่เฉพาะทั้งบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงตอนใต้และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงตอนเหนือ ระยะหลังได้ยังมีโครงการการผลิตข้าวว่าต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพเมล็ดพันธุ์อีกด้วย ที่น่าสนใจที่สุด คือ เวียดนามพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อปลูกท่ามกลางวิกฤตภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้สำเร็จ

ด้านนาข้าวอินทรีย์ของเวียดนามก็กำลังได้รับการพัฒนาและเป็นที่สนใจในหมู่ชาวนาที่เริ่มเพิ่มทุ่งนาประเภทนี้มากขึ้น เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวอินทรีย์บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ในตอนนี้แม้เวียดนามยังเป็นรองไทยเรื่องปริมาณส่งออกและคุณภาพข้าว แต่น่าสนใจว่าการพัฒนาและวิจัยพันธุ์ข้าวที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในอนาคตเวียดนามอาจแซงไทยขึ้นมาก็เป็นได้

เมื่อข้าวเวียดนาม บุกตลาดโลก ภาพ: เกษตรกรเวียดนามกำลังตากข้าวในชนบท เครดิตภาพ : มรกตวงศ์ ภูมิพลับ