posttoday

ชูยุทธศาสตร์จัดการน้ำ สร้างสมดุลในเอเชีย

24 มกราคม 2562

ในการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี 2019 ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ในการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี 2019 ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ-พลังงาน-อาหาร (Water-Energy-Food Nexus) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในภูมิภาคเอเชีย สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากภัยธรรมชาติหากไม่มีการวางแผนรับมือที่ดีเพียงพอ ประสบการณ์และการปฏิบัติการแก้ไขจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกัน

สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวในเวทีว่า ไทยมียุทธศาสตร์น้ำแห่งชาติและมี สทนช.มาเป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปตามแผนงานที่ได้ศึกษาไว้ ซึ่งได้รับการยอมรับจากหลายประเทศว่า ไทยสามารถวางระบบการบริหารจัดการน้ำได้ดี ซึ่งในการบริหารจะมีการรวบรวมพื้นที่แล้ง ท่วม และพื้นที่พัฒนาพิเศษขึ้นมาเป็นแผนเร่งด่วน 5 ปี จากนั้นแต่ละหน่วยงานต้องมาทำแผนงบประมาณร่วมกันและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน

“สิ่งที่ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตและวางแนวทางไว้คือ ทำอย่างไรแต่ละประเทศจะสร้างความสมดุลของการใช้น้ำระหว่างเกษตรและพลังงานได้ ซึ่งไทยมีความชัดเจนในเรื่องนี้”

สัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน ด้านการบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ภายหลังอุทกภัยปี 2554 รัฐบาลได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์น้ำแห่งชาติ 20 ปี เพื่อใช้เป็นแผนบริหารจัดการน้ำทุกภาคส่วน ทั้งนี้แนวบริหารเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร-อุตสาหกรรม การบริหารลุ่มน้ำ การบรรเทา-ป้องกันอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำ การฟื้นฟูต้นน้ำ โดยรัฐบาลได้มีการผลักดัน พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตามเนื่องจากสภาพอากาศปัจจุบันมีความแปรปรวนเป็นอย่างมาก ทำให้การบริหารจัดการต้องมีการติดตามและสามารถปรับการบริหารได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์

ภายหลังอุทกภัยฯ ปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศและภาวะโลกร้อน ทำให้การบริหารจัดการต้องมีการทบทวนและมีการนำเอาสถิติการเกิดภัย รูปแบบของฝน ใน 10 ปี มาพิจารณามากขึ้นจากเดิมที่ใช้รอบ 30 ปี รวมถึงต้องมีการพัฒนาศักยภาพการเก็บน้ำของเขื่อนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขื่อนเก่าที่ใช้อยู่หรือโครงการเหลียวหลัง รวมทั้งการปรับระดับการบริหารน้ำของแต่ละเขื่อนหรือโลเวอร์รีเคิร์ฟให้สอดคล้องกับปัจจุบันจากที่มีการกดไว้เมื่อปี 2554 และการจัดหาพื้นที่กักเก็บน้ำที่ไม่ใช่เขื่อนสำหรับสำรองใช้ในฤดูแล้งหรือเพื่อช่วยลดอุทกภัย เช่น แก้มลิงธรรมชาติ ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยใช้พื้นที่นาเป็นแก้มลิง 1.5 ล้านไร่ เก็บน้ำได้ 2,000 ล้าน ลบ.ม.

สมปอง คล้ายหนองสรวง รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยพื้นฐานและพัฒนานักวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ในเวทีการพูดคุยคือเรื่องความมั่นคงด้านน้ำ พลังงาน และอาหารในแต่ละประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชียต่างมีภัยพิบัติมากขึ้น ถี่ขึ้น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการบริหารจัดการ โดยเฉพาะงานพัฒนาและวิจัย และประเด็นสำคัญ คือจะทำอย่างไรให้องค์ความรู้เหล่านี้มาเชื่อมโยงกันได้ เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการลดผลกระทบหรือวางมาตรการป้องกัน

โมหัด ซากี้ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยอุทกวิทยา ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ภัยพิบัติที่เกิดถี่ขึ้น ทำให้ต้องมีการวางแนวปฏิบัติทั้งยามปกติและยามวิกฤต โดยในเรื่องน้ำจะใช้สำหรับการบริโภค การเกษตร แต่กรณีเมื่อเกิดวิกฤตจะตัดเรื่องภาคเกษตรออกไป เพื่อให้สำรองไว้สำหรับการอุปโภคและบริโภคเท่านั้น อย่างไรก็ตามมาเลเซียยังมีปัญหาในเรื่องการสื่อสารระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงาน