posttoday

ตลาดค้าส่งค้าปลีกมาเลเซีย

22 มกราคม 2562

ปัจจัยหนุนที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัว

เรื่อง สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

ปัจจัยหนุนที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัว ได้แก่

(1) พฤติกรรมผู้บริโภคอาเซียนที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งนับเป็นโอกาสในการขยายการลงทุน

(2) กำลังซื้อของประชากรที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization)

(3) การขยายตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน

มาเลเซียเป็นตลาดค้าส่งค้าปลีกที่น่าสนใจ โดยเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของความเป็นเมือง พบว่ามาเลเซียมีอัตราการขยายตัวของความเป็นเมืองร้อยละ 75.37 มีประชากรรวม 32.4 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี ประชากรมีอายุเฉลี่ย 27.1 ปี

สังคมมาเลเซียจึงเป็นสังคมของคนวัยหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก มีการศึกษาดี มีอัตราการเพิ่มของประชากรเฉลี่ยร้อยละ 3.3 การใช้ชีวิตของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมเมือง โดยประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง ได้แก่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองแคลง (Klang) และยะโฮบาร์รู

มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทยและเป็นประเทศอาเซียนที่ไทยมีมูลค่าการค้าระหว่างสูงที่สุด มาเลเซียแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก โดยมาเลเซียฝั่งตะวันตกจะมีพรมแดนติดกับไทยและเป็นฝั่งที่มีความเจริญด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวมากกว่าฝั่งตะวันออก

สาขาบริการค้าส่งค้าปลีกของมาเลเซียมีสัดส่วนร้อยละ 11.5 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ตลาดค้าส่งค้าปลีกมาเลเซียมีจุดแข็ง ได้แก่
(1) มาเลเซียเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและยุโรป

(2) มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านกับไทย และมีกฎระเบียบการยกเว้นภาษีให้สินค้าไทยมาก ประกอบกับมีพรมแดนติดกับไทย ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งไม่มาก และ

(3) มาเลเซียมีโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคอยู่ในระดับที่ดี

อย่างไรก็ตาม มาเลเซียมีจุดอ่อนอยู่ 2 ด้าน ได้แก่

(1) มาเลเซียแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก โดยมาเลเซียฝั่งตะวันออก(รัฐสาลาวัค และรัฐซาบาห์) อยู่คนละฝั่งทะเล ทำให้การขนส่งสินค้าเป็นไปโดยลำบากและมีต้นทุนสูง

(2) มาเลเซียมีสภาพปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มิใช่ระดับบริหาร

โอกาสการประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในตลาดมาเลเซีย ได้แก่

(1) มาเลเซียมีระดับการเปิดตลาดค้าส่งค้าปลีกในระดับปานกลาง

(2) สินค้า/บริการของไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในมาเลเซีย และ

(3) มีอัตราการขยายตัวของกิจกรรมการค้าส่งค้าปลีกในระดับปานกลางตามระดับการเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร และการใช้ชีวิตในสังคมเมือง

อุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ มาเลเซียเป็นตลาดที่มีระดับการแข่งขันของธุรกิจต่างชาติ รวมทั้งมีธุรกิจภายในประเทศที่เข้มแข็ง ทำให้การแข่งขันมีมาก อีกทั้งยังมีข้อจำกัดที่ต่างชาติต้องขออนุญาตในการเข้าไปประกอบการ โดยมาเลเซียอาจสงวนสิทธิให้คนมาเลเซียได้สิทธิประโยชน์ที่ดีกว่าธุรกิจต่างชาติ

สำหรับนักธุรกิจไทยที่มีศักยภาพและมีความสนใจที่จะทำธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในมาเลเซีย กลยุทธ์ที่แนะนำในการเข้าสู่ตลาดมาเลเซีย ได้แก่ การร่วมทุนกับคนมาเลเซียในการเปิดธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและการขายแฟรนไชส์ให้คนมาเลเซียในธุรกิจที่คนไทยมีความชำนาญ