posttoday

โรงงานยารักษาโรคในเมียนมา

07 มกราคม 2562

อาทิตย์ที่ผ่านมาผมเล่าถึงธุรกิจขายยารักษาโรคในเมียนมา ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว

อาทิตย์ที่ผ่านมาผมเล่าถึงธุรกิจขายยารักษาโรคในเมียนมา ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว เอาให้ถึงต้นตอเลยครับ ต้องเล่าถึงโรงงานยารักษาโรคเลยถึงจะจบสมบูรณ์ได้

ที่ผ่านๆ มาในอดีตที่ผมชอบเล่าว่า “ในอดีต” แต่จริงๆ แล้วเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เองครับ ที่เมียนมามีโรงงานยารักษาโรคอยู่ทั้งหมด 6 แห่ง และส่วนมากเป็นของรัฐบาล โดยมีโรงงาน Pharmaceutical Factory (Insein) เป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเมียนมา ที่เป็นโรงงานเอกชนมีน้อยมาก

ในขณะที่ข้อมูลของ Myanmar Medical Expo 2018 ได้ให้ข้อมูลด้านการตลาดไว้ว่า ตลาดที่เป็นโรงพยาบาลขนาด 25 เตียงขึ้นไป มีอยู่ทั้งประเทศ 302 แห่ง โรงพยาบาลเฉพาะทางมีอยู่ทั้งหมด 35 แห่ง แพทย์ที่รับราชการมีอยู่ทั้งหมด 6,331 ท่าน แพทย์เอกชนมีทั้งหมด 11,145 ท่าน ในขณะที่ประชากรของประเทศมีมาก และขนาดของตลาดยารักษาโรคมีประมาณ 100-120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผู้เล่นรายใหญ่คือคนอินเดีย ที่นำเข้ายาจากอินเดีย ครองตลาดอยู่ถึง 40-45 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นสินค้าจากไทย จีน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

เมียนมาได้พยายามเปิดให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนด้านนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ดูแล้วนักลงทุนจะไม่ค่อยมีใครกล้าไปลงทุนมากนัก จะเห็นก็มีมาจากประเทศเยอรมนี ชื่อบริษัท Stada Arzneimittel AG และนักลงทุนภายในประเทศ ไม่แน่นะครับสักวันเราคงจะเห็นจีน เวียดนาม เกาหลี และญี่ปุ่น เข้าไปก็ได้ เพราะตลาดนี้กำลังหอมหวนสำหรับเขามาก ที่ผมคิดและเข้าใจว่าทำไมถึงไม่มีใครกล้ากระโดดลงไปเล่น อาจจะเป็นเพราะว่าราคาที่ดินแพงมาก เลยทำให้การศึกษาความเป็นไปได้ของนักลงทุนไม่ผ่านก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ยารักษาโรคที่นี่ยังขาดแคลนมาก เราจะเห็นว่าโรคเขตร้อนที่บ้านเราไม่ได้พบเจอมานาน เช่น โรคโปลิโอ โรควัณโรค โรคเท้าช้าง โรคมาลาเรีย ฯลฯ ยังมีระบาดเข้ามาตามชายแดนที่ติดกับประเทศเราผ่านมาทางชายแดนเมียนมาอยู่ ดังนั้นหากจะช่วยให้โรคเหล่านี้หายไปจากเขตพื้นที่เรา เราไม่เพียงแต่จะกำจัดมันให้หมดไปจากแผ่นดินไทยเท่านั้น เราควรจะต้องช่วยเหลือประเทศเมียนมาให้กำจัดมันไปด้วย จึงจะไม่มีระบาดมาหาเราได้อีก จึงเห็นว่าหากเราช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกัน และมีการพัฒนาด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้ดี ต้องควรจะเริ่มจากการที่มีโรงงานผลิตยารักษาโรคเป็นการเริ่มต้นครับ ต้องมองให้ทะลุแล้วผลตอบแทนทางธุรกิจที่เป็นตัวเงินก็จะตามมาเองครับ

ผมเคยมีเลขานุการคนหนึ่ง เรียนจบคณะเภสัชฯ จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งมา เขาได้เข้าทำงานที่บริษัทผลิตยาของเอกชนมาก่อน ก่อนที่จะลาออกแล้วมาร่วมงานกับผมได้เกือบ 2 ปี หลังจากนั้นก็มาลาออก เหตุผลที่ลาออกเขาบอกว่า ยังรักงานด้านเภสัชฯ อยู่ อยากจะกลับไปทำงานลักษณะเดิมต่อ เพราะเขาตั้งความฝันไว้ว่า สักวันหนึ่งอยากเป็นเจ้าของโรงงานผลิตยารักษาโรค เพื่อช่วยเหลือชนชาวเมียนมาที่เป็นประเทศของเขา ผมรีบตอบสนับสนุนทันทีครับ และตั้งใจว่าหากวันนั้นมาถึง ผมจะต้องมอบเงินให้เขาบางส่วนเพื่อตอบสนองความตั้งใจอันดีงามของเขาที่มีต่อประชาชนของประเทศเขาครับ