posttoday

รูปแบบการค้าการลงทุน ในประเทศเมียนมา ยุค 4.0

27 ธันวาคม 2561

บรรยากาศทางการค้าและการลงทุนในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จากทั้งนักลงทุนต่างชาติ (Foreign Direct Investment)

เรื่อง ยุทธพงศ์ สุนทรินคะ กรรมการบริหาร (ASEAN+) รัตนวดี ศรีสว่างรัตน์ (ผู้จัดการด้านภาษีและกฎหมาย)

บรรยากาศทางการค้าและการลงทุนในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จากทั้งนักลงทุนต่างชาติ (Foreign Direct Investment) และนักลงทุนชาวเมียนมา มีแนวโน้มชะลอตัวลง ด้วยเหตุปัจจัยหลักอยู่ 4 ประการ คือ

1.กรณีปัญหาชาวโรฮีนจาที่เป็นประเด็นซึ่งอาจนำไปสู่การต่อต้านจากหลายประเทศ

2.กรณีสกุลเงินจ๊าด (Kyat) ที่อ่อนค่าลงอย่างมาก (30-40% ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา)

3.การเรียกเก็บภาษีอย่างเข้มงวดจากเงินลงทุนที่ชาวเมียนมาซึ่งไม่สามารถพิสูจน์แหล่งที่มาของเงินลงทุนดังกล่าวได้ ทำให้นักลงทุนไม่กล้านำเงินที่มีอยู่ออกมาลงทุน

4.แนวโน้มที่อเมริกาและสหภาพยุโรปอาจเพิกถอนสิทธิประโยชน์ภายใต้ Generalized System of Preferences (GSP) และ Everything But Arm (EBA) เช่น การยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าและยกเลิกการกำหนดโควตานำเข้าให้แก่สินค้านำเข้า อันเนื่องจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้ประเทศเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยผ่อนคลายกฎระเบียบทางด้านการลงทุน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบริษัท กฎหมายภาษี และกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มบรรยากาศในการลงทุน และดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติควรเข้าใจรูปแบบในการเข้าไปลงทุนซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ตามประเภทธุรกิจหลักๆ ได้ดังต่อไปนี้

1.ธุรกิจการให้บริการ

นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนได้ในรูปของสำนักงานสาขาของบริษัทต่างชาติ หรือตั้งบริษัทขึ้นใหม่ในประเทศเมียนมาเพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการต่างๆ เช่น บริการการวางระบบการบริหาร ระบบงานบุคลากร สปา ภัตตาคาร ร้านอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องมีผู้ร่วมลงทุนที่เป็นชาวเมียนมาแต่อย่างใด จึงถือเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับการลงทุนในธุรกิจในธุรกิจประเภทนี้

อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติอาจเลือกที่จะร่วมทุนกับชาวเมียนมา (Joint Venture : JV) เพื่ออาศัยความรู้ความชำนาญ อีกทั้งรู้จักความต้องการของคนในท้องถิ่น แนวทางปฏิบัติ ช่องทางการตลาด และการขาย มาเสริมให้สามารถประกอบธุรกิจในประเทศเมียนมาประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น

2.ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง

ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งในหลายประเภท อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ในประเทศเมียนมาได้แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถถือครองเป็นเจ้าของทั้งหมด (100% Foreign Owned Company) หรือร่วมทุนกับนักลงทุนชาวเมียนมา (JV Company) ภายใต้เงื่อนไขเกี่ยวกับเงินลงทุนขั้นต่ำดังต่อไปนี้ (ตามภาพ)

3.ธุรกิจการผลิต

นักลงทุนต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจผลิตสินค้าประเภทอุปโภค-บริโภค และสินค้าต่างๆ เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ หรือเพื่อการส่งออกนอกประเทศเมียนมาได้ และอาจได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีการนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร เป็นต้น ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

รูปแบบการค้าการลงทุน ในประเทศเมียนมา ยุค 4.0

ทั้งนี้ บริษัทที่มีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมมากกว่าร้อยละ 35 จะถือเป็น “บริษัทต่างชาติ” ส่งผลให้อยู่ภายใต้กฎหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ (Myanmar Investment Law 2016) และการดูแลของคณะกรรมการลงทุน (Myanmar Investment Commission : MIC) ซึ่งอาจต้องมีการขอใบอนุญาต MIC และเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำตามประเภทธุรกิจที่กำหนดไว้เป็นรายกรณี

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาที่มีประชากรกว่า 56 ล้านคน และเปิดประเทศมาได้ประมาณ 6 ปี จึงเป็นที่ได้รับความสนใจแก่นักลงทุน แม้จะยังอยู่ภายใต้วิกฤตบางประการ และเนื่องจากประเทศเมียนมายังมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกฎหมาย นโยบาย และเหตุการณ์ภายในและภายนอกที่อาจส่งผลกระทบทางสภาพทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนจึงควรติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจและสามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่กิจการในสถานการณ์ปัจจุบัน