posttoday

เชื่อมเขตศก.CLMVT

15 ธันวาคม 2561

"อุตตม" ชวนเพื่อนบ้าน ซีแอลเอ็มวี ผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ สร้างความโดดเด่นของภูมิภาคดึงดูดลงทุน

"อุตตม" ชวนเพื่อนบ้าน ซีแอลเอ็มวี ผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ สร้างความโดดเด่นของภูมิภาคดึงดูดลงทุน

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "เขตเศรษฐกิจพิเศษอาเซียน ศูนย์กลางการลงทุนยุคใหม่ (ASEAN SEZs : A New Era of World Investment) ว่า เวลานี้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกมีความวุ่นวายเสี่ยงที่จะเกิดสงครามการค้า ภูมิภาคนี้ยิ่งมีความ น่าสนใจมากขึ้น ทั้งในแง่ของตลาดที่มีขนาดใหญ่ 700 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคอายุน้อยที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาลงไปแล้วในอาเซียน กลุ่ม CLMVT ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ถือว่ามีความน่าสนใจมากที่สุดในแง่ของที่ตั้งและการเป็นตลาดใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้ในหลายด้าน เช่น กรณีของโครงสร้างพื้นฐานในบางประเทศจะไม่พร้อม แต่นั่นถือเป็นโอกาสในการเข้าไปพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม เส้นทางคมนาคม และเทคโนโลยีใหม่ แต่ที่สำคัญหากประเทศในกลุ่ม CLMVT สามารถเชื่อมโยงกันได้จะเติมเต็มศักยภาพให้ โดดเด่น ดึงความสนใจให้กับนักลงทุนจากนอกภูมิภาคได้มากกว่าการแยกกันแข่งขัน

"การยึดโยงกันนี้ได้เริ่มขึ้นแล้วจากที่ 5 ประเทศมีแผนแม่บท ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ที่กำลังจะทำให้การลงทุน ของทั้งรัฐ เอกชน และการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชนจะได้รับการสนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน" นายอุตตม กล่าว

สำหรับการร่วมกันเพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับนักลงทุนจากนอกภูมิภาคนี้ ยังรวมถึงการร่วมใช้ประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษที่แต่ละประเทศมีอยู่ เพราะจากข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบันนี้พบว่าทั่วโลกมีเมืองที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ 270 เมือง ทำให้จีดีพีของเมืองนั้นๆ เติบโตได้ 20% รายได้ของประชาชนเพิ่มเฉลี่ย 8% โดยในอาเซียนเองมีพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ถึง 1,000 แห่ง คิดเป็น 20% ของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีอยู่ ทั่วโลก ซึ่งการที่แต่ละประเทศมีเขตเศรษฐกิจพิเศษภายในและต้องแข่งขันกัน ทำให้เกิดผลประโยชน์แบบวินวินทุกฝ่ายได้

"การที่ทั่วโลกให้ความสนใจอาเซียน โดยเฉพาะ CLMVT ขณะนี้ นับว่าเป็น Window of Opportunity และในโอกาสครั้งนี้เขตเศรษฐกิจพิเศษก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญ" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

นายอุตตม กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามการสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อเพื่อสร้างศักยภาพ นอกจากจะดึงเงินทุนเข้ามาแล้ว ต้องให้มีส่วนให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาภูมิภาคในด้านต่างๆ ทั้งเป็นโอกาสในการปฏิรูปอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เวลานี้กำลังปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ นำไปสู่การผลิตที่เน้นนวัตกรรม ซึ่งเหล่านี้ก็จะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเชิงยุทธศาสตร์ คือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุน สร้างประสิทธิภาพและการกระจายการพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ฐานผลิตปัจจุบันทั่วโลกไม่ได้ตั้งอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป แต่มีการเชื่อมโยงไปประเทศต่างๆ ซึ่งขณะนี้เห็นตัวอย่างในหลายอุตสาหกรรม ทั้ง ยานยนต์ แปรรูปอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการสร้างห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ข้ามประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศใน CLMVT ก็สามารถใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษในการสร้าง Value Chain ร่วมกันได้ อาจมีการจับคู่เขตเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกัน เช่น ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารกับสะหวันนะเขต น่าจะคุยกันอย่างใกล้ชิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกันภายใต้ความเชี่ยวชาญคนละด้าน

นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้จำกัดอยู่ที่การพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะแนวคิดในปัจจุบันสามารถพัฒนาให้โรงงานอุตสาหกรรมอยู่กับชุมชนได้ สนับสนุนการเกิดเมืองสมัยใหม่ และการท่องเที่ยวที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างประเทศได้

เจาะลึก 4 เขตเศรษฐกิจพิเศษ

'มัณฑะเลย์' จุดตัดจีน-อินเดีย

จอ เซ ยา ผู้อำนวยการและผู้บริหารฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท MMID เปิดเผยว่า MMID เป็นผู้พัฒนาเขตอุตสาหกรรมเมียวทา (Myotha Industrial Park) ด้วยวิสัยทัศน์การสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการจ้างงานลดความยากจนในเขตมัณฑะเลย์ โดยในระยะแรกได้พัฒนาพื้นที่ 1,000 เฮกตาร์ ซึ่งโครงการได้รับการอนุมัติ จากคณะกรรมการการลงทุนเมียนมา (MIC) ในปี 2556 ซึ่งได้ประเมิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างถี่ถ้วนก่อนดำเนินโครงการ

สำหรับภาพรวมของมัณฑะเลย์ มีที่ตั้งใจกลางเมียนมา เป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของเมียนมา อยู่ระหว่างจีนและอินเดีย ซึ่งทั้งภูมิภาคของ มัณฑะเลย์ มีประชากรจำนวน 6 ล้านคน มีการศึกษาถึง 94% ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักๆ คือการเกษตรและเหมืองแร่ขนาดเล็ก นอกจากนี้ MMID ยังเป็นผู้พัฒนาโครงการ Myotha Township Concept Master Plan

"จากการพัฒนาของเราคาดการณ์ว่าจะมีการจ้างงาน 2-3 แสนตำแหน่ง ปัจจุบันกำลังพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐาน เพราะมัณฑะเลย์ค่อนข้าง ล้าหลัง และค่อยไปสู่อุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมบริการ สำหรับการวางแผนที่ดิน เราได้สิทธิพัฒนา 70 ปี ปัจจุบันอยู่ในการพัฒนาระยะที่ 1 ซึ่งวางแผนการพัฒนาเป็นระยะเวลาประมาณ 7 ปี" จอ เซ ยา กล่าว

สำหรับโรงงานที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่แล้ว ได้แก่ โรงงานไม้ซุง โรงงานรองเท้า ทั้งมีโรงงานร่วมทุนไทย-เมียนมา ซึ่งมีโรงงานจากไทยเข้าไปลงทุนแค่แห่งเดียว ในอนาคตหวังว่าจะมีโรงงานจากไทยเข้าไปลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้พื้นที่ที่ MMID พัฒนาเหมาะสมสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรที่สุด เนื่องจากตั้งอยู่ในแหล่งวัตถุดิบทางการเกษตร นอกจากนี้ยังได้พัฒนาพื้นที่ รองรับการใช้ชีวิต ได้แก่ การพัฒนาที่อยู่อาศัย สนามกอล์ฟ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งเรียนรู้จากอมตะนคร

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ PLR (Port Link Road) ช่วยร่นระยะเวลาการเดินทาง และโครงการท่าเรือทันสมัยแห่งแรกในเมียนมา ภายใต้ชื่อ Modern River Port in upper Myanmar ที่ออกแบบรองรับระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงของ แม่น้ำอิรวดีที่ผันผวนสูงในแต่ละวัน

"ทำไมควรมาลงทุนที่นี่ เนื่องจากเป็นพื้นที่โลจิสติกส์ ฮับ เป็นจุดตัดการค้าจีน อินเดีย มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีแม่น้ำอิรวดีสนับสนุอุตสาหกรรม มีสิทธิการใช้ที่ดิน 70 ปี ทั้งละเว้นภาษี 7 ปี สูงที่สุดในเมียนมา ตลอดจนเครื่องจักรการผลิตนำเข้ามาโดยไม่ต้องเสียภาษี" จอ เซ ยา กล่าว

เชื่อมเขตศก.CLMVT จอ เซ ยา

เวียดนาม ดาวรุ่งอาเซียน

สมหะทัย พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น เปิดเผยว่า 6 ตัวชี้สำคัญที่บ่งบอกถึงเศรษฐกิจของเวียดนาม ได้แก่ 1.การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) พบว่า เวียดนามมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในซีแอลเอ็มวีที (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) โดยปี 2560 เวียดนามมีมูลค่าการลงทุนของเอฟดีไออยู่ที่ 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ นักลงทุนอันดับ 1 คือ ญี่ปุ่น เป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก 2.มูลค่าตลาดรวม (การนำเข้า- ส่ งออก) พบว่าเวียดนามมีขนาดตลาดรวมใหญ่ที่สุดในซีแอลเอ็มวีที ซึ่งในปี 2560 มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 480 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2561 เวียดนามมีมูลค่าตลาดรวมที่ 352 ล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับตัวชี้วัดที่ 3 คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เวียดนามสูงเป็นอันดับที่ 2 ในซีแอลเอ็มวีที รองจากประเทศไทย ตามด้วยเมียนมา กัมพูชา และลาว 4.การสนับสนุนของกองทุน (Fund Support) พบว่าเวียดนาม ได้รับเงินทุนของความช่วยเหลือเพื่อ การพัฒนา หรือ ODA สูงมาก สนับสนุนการลงทุนในประเทศ 5.การเข้าร่วม เขตการค้าเสรี (FTA) เวียดนามเข้าร่วม เขตการค้าเสรีหลายกลุ่ม ทั้งอาเซียน บวก 6 ซีพีทีพีพี และอีวีเอฟทีเอ เป็นต้น ส่งเสริมการแข่งขันของประเทศที่สามารถลดกำแพงภาษีได้ และ 6.นโยบายจูงใจทางภาษี (Tax Incentive Policy) พบว่า รัฐบาลเวียดนามสนับสนุนตลอดมา โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

สมหะทัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การเข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนามเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยปัจจุบันเวียดนามให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี กำลังเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ 4.0 ด้านพื้นที่ตั้งมีอาณาเขตทางบกและทางทะเล ติดต่อกับประเทศจีนสร้างความได้เปรียบในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดบริโภคขนาดใหญ่ อีกทั้งมีการเมืองมั่นคง สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ทั้งนี้ ข้อมูลพื้นฐานของประเทศเวียดนาม พบว่า เวียดนามมีประชากรทั้งสิ้น 95.5 ล้านคน อายุเฉลี่ย 25-34 ปี เป็นวัยทำงาน โดยปี 2563 รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าเพิ่มจำนวนประชากรเป็น 100 ล้านคน ส่งผลให้เวียดนามเป็นตลาดบริโภคขนาดใหญ่ในอนาคต ด้านค่าแรงอยู่ที่ 120-170 ดอลลาร์/เดือน ซึ่งพื้นฐานชาวเวียดนามมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี ประสิทธิภาพแรงงานสูง สำหรับอมตะนครได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามทั้งภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่ง 95% ของโครงการ มีผู้เข้ามาลงทุนแล้ว

เชื่อมเขตศก.CLMVT สมหะทัย พานิชชีวะ

ลาวทำเลทองเชื่อมจีน

ตี้ ชี เส็ง กรรมการทั่วไป เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน บริษัท Savan Pacifica Development เปิดเผยว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ใช่เรื่องใหม่ของภูมิภาคอาเซียน แต่สำหรับจุดเด่นของเขตเศรษฐกิจพิเศษใน สปป.ลาว คือกลุ่มแรงงานหนุ่มสาว พบว่าประชากรลาวมีอายุเฉลี่ยที่ 24 ปี ขณะที่จีดีพีของประเทศเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ด้านเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน- เซโน เป็นจุดตัดของแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตก เป็นเส้นทางของวันเบลต์วันโรดของประเทศจีน ซึ่งการพัฒนาของเขตเศรษฐกิจพิเศษ สะหวัน-เซโน ช่วยสร้างงานในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนลาว

ทั้งนี้ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มีจุดบริการภาครัฐครบวงจร (One Stop Service) ผู้ประกอบการสามารถขอใบ อนุญาตการลงทุนได้ภายใน 5 วัน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในด้านการดำเนินธุรกิจและดูแลคุณภาพชีวิตของบุคลากรที่เข้ามาทำงานในพื้นที่

"จุดเด่นสำคัญคือสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในการส่งออกจากประเทศลาวเนื่องจากลาวเป็นประเทศด้อยพัฒนา อีกทั้งรัฐบาลยังละเว้นภาษีให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนถึง 10 ปี"

สำหรับภาพรวมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน พบว่า มีบริษัทเข้ามาลงทุนแล้ว 60 บริษัท จาก 12 ประเทศ ส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น ธุรกิจหลักคือเครื่องสำอาง โรงงานผลิตตุ๊กตา และโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อีกทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ยังมี DRYPORT อำนวยความสะดวกด้านการขนส่งให้ กับผู้ประกอบการด้วย

เชื่อมเขตศก.CLMVT ตี้ ชี เส็ง

กัมพูชาชูค่าแรงงานต่ำ

เชื่อมเขตศก.CLMVT ฮิโรชิ อุเอมัสสึ

กรรมการผู้จัดการ เขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ (Phnom Penh SEZ PLC) เปิดเผยว่า รัฐบาลกัมพูชาต้องการต้อนรับนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น ผ่านการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มการเงิน กลุ่มการแพทย์ และภาคส่วนอื่นๆ

ทั้งนี้ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลกัมพูชาส่งเสริมให้เป็นจุดให้บริการครบวงจร (One Stop Service) มีหน่วยงานภาครัฐให้บริการในพื้นที่ อาทิ หน่วยงานด้านศุลกากร ตลอดจนสนับสนุนการ ใช้ระบบออนไลน์เข้ามาให้บริการมากขึ้น

สำหรับกัมพูชามีเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่ง แต่ในพนมเปญมีเพียงแห่งเดียว สำหรับสิทธิพิเศษในการลงทุน นอกจากอัตราภาษี ยังเน้น การทำงานที่ไม่เลือกปฏิบัติระหว่างนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ แต่ทั้งนี้อาจมีความแตกต่างในด้านสิทธิการถือครองที่ดิน

ด้านจุดเด่นของกัมพูชา คือมีที่ตั้งระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม ประเทศผู้นำในซีแอลเอ็มวีที โดยฐานการผลิตหลายแห่งย้ายฐานจากประเทศไทยและจีนเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น ด้วยค่าแรงงานที่ต่ำ แต่ยังมีข้อจำกัดด้านทักษะแรงงาน ถึงอย่างไรสามารถฝึกอบรมได้ ซึ่งค่าแรงของกัมพูชามีอัตราอยู่ที่ 170 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน โดยในปี 2562 รัฐบาลจะปรับเป็น 180 ดอลลาร์/เดือน

สำหรับบริษัทเขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ เป็นบริษัทเอกชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา เป็นรายที่ 4 จาก 5 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยสามารถระดมทุนได้ 8.3 ล้านดอลลาร์ มี JWD  เป็นบริษัทด้านโลจิสติกส์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ อันดับที่ 2 ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนา DRY PORT ซึ่งจะเกิดการเชื่อมโยงกับประเทศไทยใน อนาคต

ขณะที่จุดยุทธศาตร์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ จะพัฒนาพื้นที่เช่าโรงงาน สร้างคลังสินค้าที่เหมาะสม ระบบสาธารณูปโภค น้ำ พลังงาน ตามรูปแบบเขตอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จของประเทศไทย คือ อมตะนคร ทั้งมุ่งมั่นดึงดูดบริษัทจากซีแอลเอ็มวีทีให้เข้ามาลงทุน

"เราพยายามดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขยายความหลากหลาย นอกเหนือจากอุตสาหกรรม เครื่องนุ่งห่ม โดยเมื่อไม่นานมานี้ โรงงานเครื่องนุ่งห่มของจีนขยายการผลิตให้กับแบรนด์ต่างชาติ ซึ่งจากความขัดแย้งของสหรัฐกับจีนส่งผลดีกับเรา เนื่องจากจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเรามากขึ้น" อุเอมัสสึ กล่าว