posttoday

หนุนไทยร่วมซีพีทีพีพี

06 ธันวาคม 2561

สรท.หนุนไทยเข้าร่วมซีพีทีพีพี แต่ให้ระวังประเด็นผูกขาดพันธ์ุพืชใหม่ แนะรัฐตั้งกองทุนดูแลผลกระทบ

โพสต์ทูเดย์ - สรท.หนุนไทยเข้าร่วมซีพีทีพีพี แต่ให้ระวังประเด็นผูกขาดพันธ์ุพืชใหม่ แนะรัฐตั้งกองทุนดูแลผลกระทบ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.เห็นด้วยการที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ซึ่งที่ผ่านมา สรท.ได้ส่งข้อมูลความเห็นไปให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อประกอบการพิจารณาไปแล้ว

ทั้งนี้ แม้ว่า สรท.จะสนับสนุนการเข้าร่วมซีพีทีพีพี แต่ก็ยังมีประเด็นที่เป็นข้อกังวลอยู่ เพราะในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เช่น อุตสาหกรรมอาหารมีหลายประเภท บางส่วนเห็นด้วย บางส่วนไม่เห็นด้วย ดังนั้นจะต้องลงลึกไปพิจารณารายละเอียดแต่ละสินค้าอีกครั้ง ซึ่งคงต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างรอบคอบ และเห็นว่าการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี ไม่น่าจะทันในรัฐบาลชุดนี้

“สรท.เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นทุกครั้ง ซึ่งภาพรวมเห็นด้วย เนื่องจากปัจจุบันการค้าโลกเป็นการค้าเสรี เน้นเรื่องการเจรจาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาแบบพหุภาคีหรือทวิภาคี เพื่อหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมาตรการกีดกันทางการค้าด้วยการขึ้นภาษี แต่ที่กังวลเพราะข้อตกลงซีพีทีพีพีมีหลายข้อบทที่ต้องพิจารณาว่าข้อบทไหนรับได้ ข้อบทไหนที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าและะมีโอกาสในการไปเจรจาได้บ้าง หรือข้อบทไหนติดขัดมากจะมีแนวทางใดเยียวยาได้” นายวิศิษฐ์ กล่าว

สำหรับข้อบทที่ สรท.กังวล คือ การเข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 (ยูพอฟ) จะส่งผลกระทบทางลบต่อเกษตรกรไทย โดยเฉพาะที่อยู่ภายใต้อำนาจผูกขาดของบริษัทผู้ปรับปรุงพันธุ์พืชในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในการเก็บเมล็ดพันธุ์ และสิทธิในพันธุ์พืชที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ที่อาจทำให้เกษตรกรไทยต้องซื้อเมล็ดพันธุ์พืชในราคาสูงขึ้น รวมทั้งการเปิดตลาดสินค้า Modern Biotechnology ซึ่งการเข้าร่วมซีพีทีพีพีอาจจะส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าตกแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) เข้ามาในไทย อาจนำไปสู่การปนเปื้อนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และลดความน่าเชื่อถือของสินค้าไทยในตลาดประเทศที่ไม่ยอมรับสินค้าจีเอ็มโอ

อย่างไรก็ตาม สรท.เห็นว่าการตั้งกองทุนซีพีทีพีพี ขึ้นมาดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง และคงมีรายละเอียดมาก เพราะซีพีทีพีพีเป็นข้อตกลงที่มีความเข้มข้นมากกว่าข้อตกลงเอฟทีเอ ซึ่งมีบทเรียนมาแล้วจากการปิดฉากกองทุนเอฟทีเอ โดยกองทุนดังกล่าว
ถูกตัดงบประมาณปี 2562 ทำให้กรมการค้าต่างประเทศไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการกองทุนรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า และกองทุนเอฟทีเอยังมีรายละเอียดของบกองทุนค่อนข้างมาก ดังนั้นการตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่จะต้องมีการศึกษาและดำเนินการให้สะดวกในการปรับตัวต่อไป