posttoday

‘เวียดนาม’นำเข้ารถยนต์-ชิ้นส่วนพุ่ง

23 พฤศจิกายน 2561

กรมศุลกากรเวียดนามรายงานข่าวในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2561 เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 11,172 คัน เพิ่มขึ้น 5,142 คัน หรือ 85.3%

กรมส่งเสริมการค้าแนะโอกาสผู้ส่งออกรถยนต์ ชิ้นส่วน ตลาดผลิตภัณฑ์ซ่อมบำรุง

นางสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ เปิดเผยว่า กรมศุลกากรเวียดนามรายงานข่าวในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2561 เวียดนามนำเข้ารถยนต์ 11,172 คัน เพิ่มขึ้น 5,142 คัน หรือ 85.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และนำเข้ารถยนต์ไม่เกิน 9 ที่นั่ง ส่วนใหญ่จากอาเซียน คิดเป็น 93.5% ของการนำเข้ารถยนต์ทั้งหมด โดยมากกว่า 51% นำเข้าผ่านท่าเรือในนครโฮจิมินห์ และได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีนำเข้าตามความตกลงการค้าเสรีของอาเซียน (ATIGA)

ทั้งนี้ กรมศุลกากรเวียดนามประกาศว่าชิ้นส่วน อุปกรณ์ และส่วนประกอบรถยนต์ที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องยนต์คัสซี (Chassis) และเทคโนโลยีพิเศษที่ไม่สามารถผลิตในเวียดนามได้ เว้นแต่ผู้ผลิตลงทุนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ในเวียดนาม โดยบริษัท โตโยต้า ฟอร์ด และนิสสัน นำเข้าสายไฟฟ้าและเหล็กจากไทย อินเดีย และอินโดนีเซีย เพื่อผลิตรถยนต์ในเวียดนาม

นอกจากนี้ คาดว่าในช่วงสิ้นปี 2561 รถยนต์ที่จะเข้ามาในตลาดเวียดนามมากขึ้น ได้แก่ รุ่น Xpander ของบริษัท มิตซูบิชิ รุ่น BT 50 ของบริษัท มาสด้า รุ่น Everest ของบริษัท ฟอร์ด รุ่น Wigo ของบริษัท โตโยต้า และรุ่น HR-V ของบริษัท ฮอนด้า

สำหรับในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2561 ผู้ประกอบการเวียดนามยังนำเข้าชิ้นส่วน อุปกรณ์ และส่วนประกอบรถยนต์มูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยญี่ปุ่นเป็นแหล่งนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์อันดับ 1 ของเวียดนาม คือ 591 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ เกาหลีใต้ 560 ล้านดอลลาร์ และจีน 465 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ปัจจุบันความต้องการรถยนต์ในเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากประชากรในเวียดนามมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ความต้องการรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้บริโภคในเวียดนามส่วนใหญ่มั่นใจในคุณภาพของรถยนต์ที่ผลิตในไทย จึงเป็นโอกาสให้ผู้ส่งออกรถยนต์ โรงงานผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์ ส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ซ่อมบำรุงรถยนต์ที่เกี่ยวข้องของไทยพิจารณาหาช่องทางโอกาสในการลงทุน เพื่อขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนดังกล่าวในเวียดนาม โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบด้านแรงงานที่มีมากและราคาถูกกว่าไทย รวมถึง FTA ต่างๆ ที่เป็นตลาดรองรับการส่งออกด้วย