posttoday

เจาะกลยุทธ์การค้า-ลงทุนคุนหมิง

19 พฤศจิกายน 2561

เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และเอ็มทูเอฟ ร่วมกับ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์(เอพีเอ็ม)

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และเอ็มทูเอฟ ร่วมกับ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์(เอพีเอ็ม) จัดสัมมนาเปิดเส้นทางการค้าจีนตอนใต้ เชียงของ-บ่อเต็น-สิบสองปันนา-คุนหมิง นำทัพผู้ประกอบการไทยลงพื้นที่สำรวจเส้นทาง ทั้งพบปะ
ผู้เชี่ยวชาญจากไทยและจีน พร้อมแนะนำโอกาสทางธุรกิจ

นิธิวดี มานิตกุล กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง เปิดเผยภายในงานเสวนา ว่า สิ่งที่มณฑลยูนนานมีในปัจจุบันคือสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ภาคส่วนหลักที่รัฐบาลจีนส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่มณฑลยูนนาน จึงประกอบไปด้วยภาคส่วนการท่องเที่ยว ภาคส่วนอุตสาหกรรมสีเขียวและภาคส่วนไอที โดยรัฐบาลจีนรู้ดีว่าประเทศไทยมีความถนัดในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงต้องการให้นักลงทุนไทยเข้ามาสนับสนุนด้านนี้ เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับประเทศจีน

สำหรับภาคส่วนอุตสาหกรรมสีเขียว เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ เพราะต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างความเป็นอยู่ที่เป็นมิตร โดยยูนนานขึ้นชื่อเรื่องการเกษตรที่ราบสูง มีการปลูกใบชา ตลอดจนการปลูกกาแฟอราบิกา ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นกาแฟที่ดีที่สุดในจีนไปแล้ว ดังนั้นการทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร กาแฟ สิ่งแวดล้อมจึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ตลอดจนการเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่และใช้วัตถุดิบคุณภาพของประเทศจีน ทางด้านภาคส่วนไอที เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้ามาบุกตลาดในจีนตอนใต้

แม้ว่าโอกาสทางธุรกิจยังมีอีกมาก แต่การลงทุนมาพร้อมกับความเสี่ยง โดยความท้าทายของการบุกตลาดจีนที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือ นิธิวดี ย้ำว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในจีนมีโอกาสอยู่รอดมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก แต่ทั้งนี้การมีหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ดีจะช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กของไทยแข็งแกร่งได้ ตลอดจนข้อจำกัดด้านการโอนเงิน ข้อจำกัดด้านภาษาของเจ้าหน้าที่ทางการเงิน แต่ทั้งนี้รัฐบาลจีนกำลังปรับปรุงแก้ไข

ถึงอย่างไรข้อจำกัดทางธุรกิจต่างต้องพบเจอในทุกพื้นที่ ซึ่งเสน่ห์ของประเทศจีน ที่ยังคงดึงดูดการลงทุนคือการเป็นตลาดบริโภคขนาดใหญ่ สำหรับมณฑลยูนนานแห่งเดียวมีประชากรประมาณ 47 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรไทย อีกทั้งเป็นมณฑลที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประเทศจีน มีอัตราอยู่ที่ 9.1% ขณะที่สิ่งสำคัญก่อนที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้ามาลงทุนในมณฑลยูนนาน หรือพื้นที่อื่นๆ ของประเทศจีน ต้องศึกษาข้อมูลการลงทุนจากผู้ที่มีประสบการณ์

“ปัจจุบัน รัฐบาลจีนส่งเสริมให้คนมาเที่ยวยูนนานมากขึ้น การบริโภคก็จะมีมากขึ้น พาณิชย์ยูนนานเคยถามว่าจะมีธุรกิจอาหารจานเดียว หรือร้านสะดวกซื้อของไทยเข้ามาลงทุน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวได้ไหม เนื่องจากประเทศไทยมีความถนัด เป็นโอกาสทางธุรกิจด้านหนึ่งให้ผู้ประกอบการไทยไปพิจารณา” นิธิวดี กล่าว

สำหรับการนำเข้าของประเทศจีนยังมีข้อจำกัดในด้านขั้นตอนเอกสารถือว่ายุ่งยากโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหาร โรงงานต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากจีน แต่ทั้งนี้หากทำสำเร็จถือว่าคุ้มค่าเพราะจีนเป็นตลาดใหญ่

ด้าน จันทร์จิรา อนันต์ชัยพัฒนา นักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในยูนนานเปิดเผยว่า ได้ใช้ชีวิตอยู่ในมณฑลยูนนานมา 19 ปี มองเห็นศักยภาพทางธุรกิจหลายด้าน ซึ่งยูนนานเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของประเทศจีน โดยจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจในมณฑลยูนนาน คือ ธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ขยายสู่การทำธุรกิจร้านอาหาร บริษัทออร์แกไนซ์ ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้า ภายใต้ชื่อ MoonLight Trading อาทิ ผลิตภัณฑ์ S&P ข้าวหอมมะลิ ตราเกษตร บีทาเก้น เป็นต้น กระทั่ง 3 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นศึกษาด้านธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เนื่องจากเติบโตสูงในประเทศจีน อีกทั้งยังเป็นบริษัทให้คำปรึกษาการทำธุรกิจในประเทศจีนด้วย

สำหรับคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการบุกตลาดจีน ควรเริ่มต้นจากการจดลิขสิทธิ์สินค้าของตนเองในประเทศจีน วางแผนด้านการนำเข้า การตลาด และการประชาสัมพันธ์ สิ่งสำคัญต้องทราบก่อนว่าสินค้าที่จะส่งออกมายังประเทศจีน จีนสามารถนำเข้าได้หรือไม่ ติดข้อกำหนดทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

“คิดว่าสิ่งสำคัญก่อนที่ผู้ประกอบการไทยจะส่งสินค้าเพื่อตีตลาดจีนได้นั้น สินค้าต้องเป็นที่รู้จักในตลาดจีนมาก่อน เราต้องรู้ว่าสินค้าเราเป็นที่รู้จักในตลาดจีนระดับไหน เพื่อนำมาปรับใช้กับการวางแผนการนำเข้า” จันทร์จิรา กล่าว

ปีเตอร์ ฟู ประธาน และซีอีโอ ธนาคารยูโอบี ประเทศจีน กล่าวว่า จีนตอนใต้มีอัตราการเติบโตของจีดีพีในระดับที่สูง ทั้งนี้หากผู้ประกอบการสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดจีนควรมองว่าตนเองมีความถนัดด้านไหน ซึ่งอยากให้มองการลงทุนในหลายพื้นที่ของจีน ไม่จำกัดแค่พื้นที่จีนตอนใต้เท่านั้น และวิเคราะห์ว่าสินค้าของตนเองเหมาะสมกับพื้นที่ไหน เนื่องจากแต่ละพื้นที่ของจีนมีความแตกต่างกันมาก

ขณะที่สินค้าสำคัญในการนำเข้าและส่งออกระหว่างไทยกับยูนนาน คือสินค้าเกษตร จึงอยากแนะนำให้เริ่มต้นการลงทุนที่สินค้าเกษตร ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีต้นทุนต่ำ สามารถวางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ตลอดจนผู้บริโภคจีนเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย

“ผลิตภัณฑ์โครงการหลวงของไทยมีชื่อเสียง ตลอดจนข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มการเกษตรทั้งสิ้น แต่ปัญหาหลักคือเงินทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งหากต้องการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ สามารถขอคำปรึกษาได้จากธนาคาร และเมื่อมีความมั่นใจสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศจีน ผลิตที่นี่ หาลูกค้าที่นี่ ตัวรัฐบาลจีนเองก็สนับสนุนเพราะส่งผลให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่” ปีเตอร์ ฟู กล่าว