posttoday

เจาะลึกเส้นทางจีนใต้ ตลาด 400 ล้านคน

16 พฤศจิกายน 2561

เจาะลึกเส้นทางการค้าจีนตอนใต้ โอกาสการค้า การลงทุน ประตูสู่แดนมังกร

เรื่อง...ปิยนุช ผิวเหลือง

บริษัท บางกอก โพสต์ หนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ เอ็มทูเอฟ และบริษัท แอสเซทโปร แมเนจเม้นท์ (เอพีเอ็ม) จัดสัมมนา เจาะลึกเส้นทางการค้าจีนตอนใต้ โอกาสการค้า การลงทุน ประตูสู่แดนมังกร โดยมีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมให้ความรู้ แชร์ประสบการณ์

ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายและประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยว่า เส้นทางการค้าจากประเทศไทยสู่พื้นที่จีนตอนใต้ ปัจจุบันมีหลายเส้นทาง แต่ทั้งนี้เส้นทางบกที่ใกล้ที่สุด คือ เส้นทางจากเชียงของ จ.เชียงราย ไปยังบ่อเต็น สปป.ลาว เมืองสิบสองปันนา แล้วต่อไปยังเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปยังมณฑลกุ้ยโจว และมณฑลเสฉวน ซึ่งทั้ง 3 มณฑล มีประชากรรวมกันประมาณ 400 ล้านคน ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และยังเปิดรับสินค้าไทยอีกมาก

ปัจจุบันเส้นทาง เชียงของ-บ่อเต็น-สิบสองปันนา-คุนหมิง ใช้ขนถ่ายสินค้าประเภทอาหารเป็นหลัก โดยข้อมูลจากด่านศุลกากร เชียงของ ระบุว่า มูลค่าทางการค้าผ่านด่านศุลกากรปีงบประมาณ 2561 มีมูลค่าราว 2.4 หมื่นล้านบาท โดยเป็นมูลค่านำเข้าสินค้าผ่านด่าน 6,298 ล้านบาท และเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 17,800 ล้านบาท

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักไปยังประเทศจีนผ่านเส้นทางดังกล่าว ได้แก่ ผลไม้สด ข้าวสาร เครื่องอุปโภค-บริโภค พืชผัก และผลไม้แปรรูป และยังเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าไปยัง สปป.ลาว โดยสินค้าส่งออกหลักไปยัง สปป.ลาว ได้แก่ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โค และกระบือมีชีวิต วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เครื่องอุปโภคบริโภค ชิ้นส่วนไก่ เป็ดแช่แข็ง และข้าวสาร เป็นต้น

เจาะลึกเส้นทางจีนใต้ ตลาด 400 ล้านคน

“เส้นทางนี้ (เชียงของ-บ่อเต็น-สิบสองปันนา-คุนหมิง) เป็นเส้นทางที่มีอนาคตสดใส ขนส่งสินค้าไปยังจุดกระจายสินค้าที่คุนหมิง กระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ของยูนนาน ทั้งกระจายไปยังมณฑลกุ้ยโจว และมณฑลเสฉวน ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 400 ล้านคน โดยสินค้ายอดนิยมคือของกินของใช้ แต่ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหารก็ยังมีโอกาส ได้แก่ สินค้าในกลุ่มซอฟต์แวร์ วัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป งานหัตถกรรม และไม้แกะสลัก” ผกายมาศกล่าว

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน ต้องศึกษาตลาดว่าสินค้าของตนเองเหมาะกับพื้นที่ใด ตลอดจนศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี เส้นทางที่ใช้ในการขนส่ง สำหรับการเข้าไปลงทุนโรงงาน หรือลงทุนธุรกิจในประเทศจีน แนะนำให้ลงทุนตามแนวชายแดนที่สามารถเชื่อมไปยังประเทศจีนมากกว่าเข้าไปลงทุนในประเทศโดยตรง อาทิ บริเวณชายแดนรัฐฉาน ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนการลงทุนของอุตสาหกรรม อีกทั้งรัฐบาลจีนเอง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศออกไปลงทุนต่างแดน เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่า

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เส้นทางบกที่เชื่อมโยงประเทศไทย กับจีนตอนใต้มีหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็น เส้นทาง R3A เชื่อมโยงไทย-สปป.ลาว-จีน ทั้งนี้เส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ระยะทางทั้งสิ้น 1,858 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีเส้นทาง R9 ผ่านไปทางประเทศเวียดนาม และเส้นทาง R12 เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเส้นทางบก

ขณะที่จีนตอนใต้มีอาณาเขตใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นของประเทศจีน และด้วยความต้องการสินค้าจำนวนมากเพื่ออุปโภคบริโภคในพื้นที่ จึงต้องอาศัยการนำเข้าจากประเทศไทยบางส่วน อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดใช้เวลาการขนส่งจากประเทศไทยไปจีนตอนใต้ รวดเร็วกว่าการขนส่งจากประเทศจีนด้วยกันเอง เนื่องจากภูมิประเทศที่มีขนาดใหญ่ ถึงอย่างไรแม้ไทยจะตอบสนองความต้องการสินค้าให้กับจีนตอนใต้ได้ดี แต่การขนส่งสินค้าต้องอาศัยประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยไทยไม่ได้มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศจีนโดยตรง

“สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรทำก่อนขยายธุรกิจไปยังตลาดจีน คือการจดลิขสิทธิ์สินค้าในประเทศจีน ทั้งนี้หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับด้านนี้สามารถขอคำปรึกษาและข้อมูลได้จากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง
และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครหนานหนิง ได้ทันที ในด้านการลงทุนในประเทศจีน แม้เป็นไปได้ยาก แต่ก็สามารถทำได้หากมีหุ้นส่วนทางธุรกิจที่ดี”