posttoday

ข้าวพันธุ์ใหม่

16 พฤศจิกายน 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ปัจจุบันประเทศไทยมีสายพันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์จำนวน 132 ชนิด(กรมการข้าว) สามารถแบ่งตามประเภทสินค้าข้าวได้ 6 ประเภท คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอม ข้าวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวเหนียว และข้าวตลาดเฉพาะ โดยร้อยละ 50 เป็นสายพันธุ์ข้าวขาวพื้นแข็ง ซึ่งเป็นข้าวที่ส่งออกเกือบ 50% ของการส่งออกทั้งหมดโดยตลาดหลัก จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ตามการส่งออกข้าวนึ่ง (ตลาดหลัก แอฟริกา) และข้าวหอมมะลิ (ตลาดหลัก สหรัฐ จีน ฮ่องกง) ตามลำดับ

สำหรับกลุ่มข้าวพื้นนุ่มและข้าวขาวตลาดเฉพาะเป็นข้าวที่ไทยส่งออกน้อย หรือเกือบยังไม่มีการส่งออกเลย กลุ่มพื้นนุ่ม ได้แก่ พันธุ์ขาว กข21 กข39 กข45 กข59 กข77 และพิษณุโลก60-1 เป็นต้น ในขณะที่ข้าวขาวตลาดเฉพาะ ซึ่งเป็นข้าวสุขภาพและข้าวประจำท้องถิ่น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ พันธุ์ข้าวดัชนีน้ำตาลปานกลาง ได้แก่ พันธุ์ กข43 และพิษณุโลก80 ข้าวสี ได้แก่ พันธุ์ข้าวลืมผัว สังข์หยดพัทลุง ข้าวหอมแดง และข้าวหอมกุหลาบแดง เป็นต้น สุดท้ายคือ ข้าวเมล็ดขนาดกลาง

บทความนี้ผมขอเน้น "ข้าวนุ่ม" ซึ่งเป็นข้าวที่ตลาดต่างประเทศมีความสนใจมากในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดจีนและฟิลิปปินส์ ก่อนอื่นต้องขออัพเดทตลาดข้าวโลกก่อนครับ ปี 2560 ทั่วโลกส่งออกข้าว 32 ล้านตันข้าวสาร เบอร์ 1 และ 2 ของส่งออกโลกคือ อินเดียและไทย ปี 2554 เป็นปีแห่งจุดเปลี่ยนของการส่งออกข้าวโลกระหว่าง 2 ชาตินี้ ก่อนปี 2554 ไทยส่งออกอันดับ 1 ของโลก แต่หลังปี 2554 เป็นต้นมา "อินเดียคือเบอร์ 1 ส่งออกข้าวโลก" ปี 2560 อินเดียส่งออก 11 ล้านตัน ไทยส่งออก 9.9 ล้านตัน ปี 2561 คาดว่าอินเดียส่งออก 12.5 ล้านตัน ไทย 10.2 ล้านตัน (11 ล้านตัน สมาคมผู้ส่งออก) เวียดนาม 6.7 ล้านตัน (statista.com)

สำหรับข้าวพันธุ์ใหม่ที่ผมกำลังพูดถึงนี้ก็คือ "ข้าวนุ่ม" หรือข้าวประเทศจีนที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ที่มีความหอมและนุ่ม ชื่อว่า "Wu Chang" หรือ "DaoH ua Xiang" ซึ่งข้าวชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในตลาดจีนมาก โดยจีนมีความต้องการประมาณปีละ 7-8 ล้านตัน แต่ไทยมีการปลูกข้าวชนิดนี้น้อยมาก ทำให้เวียดนามได้เปรียบเพราะเวียดนามหันมาส่งเสริมการปลูกเนื่องจากได้ราคาดี ดังนั้น ต่อไปไทยควรเร่งพัฒนาพันธุ์เพื่อขยายตลาดส่งออก ข้าวไปยังกลุ่มข้าวพื้นนิ่ม

ประเทศเวียดนามมีการนำพันธุ์ข้าวจากประเทศจีนมาปลูก แล้วส่งขายกลับไปยังประเทศจีน จีนนำเข้าข้าวนุ่มปริมาณ 2.5 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนามและปากีสถาน ซึ่งเป้าหมายของไทยคือ ต้องการส่งออกให้ได้ 1 ล้านตัน คำถามที่สำคัญ คือ "ปัจจุบันไทยมีข้าวนุ่มพอยัง" ต้องตอบว่า "ยังครับ" หากเราต้องการขายตลาดจีนและตลาดอื่นๆ โดยตั้งเป้า ว่า "ผลิต 1 ล้านตันข้าวสาร" ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ข้าว ชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก
 
ผมได้นั่งคุยกับสมาคมผู้ส่งออก พบว่า การที่ปลูกข้าวนุ่มให้ได้ 1 ล้านตัน ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ทั้งหมดประมาณ 4.5 หมื่นตัน และพื้นที่เพาะปลูกข้าวจำนวน 3 ล้านไร่ เพื่อให้ได้ข้าวเปลือกจำนวน 1.8 ล้านตัน แล้วนำมาแปรรูปให้ได้ข้าวสาร 1 ล้านตัน

ในวันนี้ไทยมีเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นนุ่ม (พันธุ์ กข21 กข45) เพียง 18 ตัน ซึ่งจะปลูกข้าวได้ 1,200 ไร่ (18 ตัน เท่ากับ 1.8 หมื่น กก. ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์จำนวน 15 กก. ดังนั้น จะเท่ากับ 1.8 หมื่น กก./15 กก. เท่ากับ 1,200 ไร่) หากเรามีหน้าตักเท่านี้ เราต้องใช้ระยะเวลาปลูก 3 รอบ รอบละ 4 เดือน รวม 12 เดือน เราจึงจะมีข้าวสาร 1 ล้านตัน ซึ่งวันนี้สมาคมผู้ส่งออกเลยไม่รอช้า ทำพื้นที่ 1 หมื่นไร่ใน จ.สุพรรณบุรี ราชบุรี และนครปฐม โดยสมาคมฯ สนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งรับซื้อข้าวในราคาตันละ 9,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดข้าวเจ้าเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 8,000-8,500 บาท โดยราคาส่งออกข้าวพื้นนิ่มจะสูงกว่าข้าวขาวปกติ (ข้าวพื้นแข็ง) ประมาณตันละ 60-150 ดอลลาร์สหรัฐ
 
ปัจจุบันราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยอยู่ที่ตันละ 460 ดอลลาร์ ขณะที่ข้าวขาวพื้นนิ่มจากเวียดนามพันธุ์ 5414 ส่งออกประมาณตันละ  500 ดอลลาร์ และข้าวพันธุ์ ST5 ส่งออกตันละ 550 ดอลลาร์ เป็นต้น