posttoday

แห่ใช้สิทธิเอฟทีเอ-จีเอสพี 9 เดือนปี'61 โตพุ่ง

14 พฤศจิกายน 2561

สถิติการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) เพื่อส่งออกช่วง 9 เดือนแรกของไทย (ม.ค.-ก.ย.)

เรื่อง...อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

สถิติการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) เพื่อส่งออกช่วง 9 เดือนแรกของไทย (ม.ค.-ก.ย.) 2561 มีมูลค่า 5.56 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.70% ถือเป็นสัญญาณดีที่ยอดการใช้สิทธิประโยชน์ทั้งเอฟทีเอและจีเอสพีของไทยในปี 2561 จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายมีมูลค่า 7.07 หมื่นล้านดอลลาร์

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า การใช้ประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอและจีเอสพีในช่วง 9 เดือน ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 5.56 หมื่นล้านดอลลาร์ พบว่ามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ถึงสัดส่วน 74.44% ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 17.70% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18.19% และมูลค่าการส่งออกภายใต้จีเอสพี 3,578.03 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.98%

ทั้งนี้ เมื่อแยกเฉพาะการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอที่ไทยได้ทำไว้กับคู่เจรจาทั้งหมด 12 ฉบับ พบว่าตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 1.99 หมื่นล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ จีน มูลค่า 1.31 หมื่นล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย มูลค่า 7,004.84 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น มูลค่า 5,591.97 ล้านดอลลาร์ และอินเดีย มูลค่า 3,329.27 ล้านดอลลาร์ แต่หากพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ขยายตัว 64.54% รองลงมาคือ จีน 29.55% และอินเดีย 22.57% ซึ่งทั้ง 3 ตลาดนอกจากจะมีอัตราการขยายตัวสูงแล้ว ยังพบว่ามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงเช่นเดียวกัน

ด้านกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-ชิลี สัดส่วน 94.97% ไทย-ออสเตรเลีย สัดส่วน 90.94% อาเซียน-จีน 90.71% ไทย-ญี่ปุ่น สัดส่วน 87.38% และอาเซียน-เกาหลี 87.07% และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียน น้ำตาลจากอ้อย และน้ำมันปิโตรเลียม

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษจีเอสพีช่วง 9 เดือน 2561 พบว่า ไทยใช้จีเอสพีส่งออกไปสหรัฐมากสุดมูลค่า 3,211.63 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.66% มีอัตราการใช้สิทธิ 68.82% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิจีเอสพีจากสหรัฐมูลค่า 4,667 ล้านดอลลาร์ สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพีสหรัฐสูงสุด เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง เป็นต้น

"ประเด็นที่สหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย 11 รายการ อาทิ ดอกกล้วยไม้สด ทุเรียนสด เป็นต้น เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา เชื่อว่ากระทบต่อการส่งออกไปสหรัฐน้อยมาก อีกทั้งที่ผ่านมาสินค้าไทยเคยถูกตัดสิทธิ เช่น เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง เป็นต้น แต่ยังสามารถส่งออกไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ส่งออกมีการปรับตัวและพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล ทำให้ยังคงรักษาตลาดต่อไปได้" อดุลย์ กล่าว

อดุลย์ ทิ้งท้ายว่า แม้การส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 จะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่กรมยังมั่นใจว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ทั้งเอฟทีเอและจีเอสพีจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 9% มูลค่า 7.07 หมื่นล้านดอลลาร์