posttoday

อีคอมเมิร์ซในกัมพูชา

31 ตุลาคม 2561

ปัจจุบันโลกของดิจิทัลได้ขยายอิทธิพลไปยังทุกภาคส่วนของโลกใบนี้ เช่นเดียวกับประเทศกัมพูชาที่อิทธิพลของอี-คอมเมิร์ซเริ่มมีให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

สำนักงานผู้แทนการค้าต่างประเทศ ณ จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชาLogoPull 

ปัจจุบันโลกของดิจิทัลได้ขยายอิทธิพลไปยังทุกภาคส่วนของโลกใบนี้ เช่นเดียวกับประเทศกัมพูชาที่อิทธิพลของอี-คอมเมิร์ซเริ่มมีให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาเริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านทางออนไลน์ เช่น รถยนต์

ต่อมากัมพูชามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น รวมทั้งมีการเปิดกว้างเพิ่มขึ้น จึงทำให้ชาวกัมพูชาสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์และอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ส่งผลให้สื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) กลายเป็นที่นิยมในประเทศกัมพูชาและทำให้นักการตลาดเริ่มหันมาทดลองนำสินค้ามาขายผ่าน Facebook ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะคนมีเวลาอ่านรายละเอียดของสินค้า มีการแนะนำวิธีใช้ รวมทั้งมีคนอื่นๆ มาให้ความเห็นว่าสินค้านั้นดีหรือไม่
อย่างไร

เมื่อมีการสั่งสินค้าเกิดขึ้น ขณะที่ระบบการขนส่งสินค้าและระบบการเงินยังไม่รองรับ จึงมีการส่งสินค้าโดยอาศัยพาหนะพื้นฐานคือรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ไปส่งให้ถึงบ้านและผู้ซื้อก็ชำระค่าสินค้าเป็นเงินสดฝากมากับผู้ที่ทำหน้าที่ส่งสินค้านั้นหรืออาจมีการโอนค่าสินค้าผ่านบริการโอนเงินทางมือถือที่มีให้บริการทุกแห่งหน

ในปี 2559 Facebook และอินเทอร์เน็ตกลายเป็นช่องทางการรับรู้ข่าวสารหลักของคนกัมพูชา โดยมีสัดส่วนถึง 30% รองลงมา คือ การรับรู้ผ่านสื่อทีวี การเล่าปากต่อปากและวิทยุ ซึ่งต่างจากปี 2558 ที่ทีวีเป็นช่องทางรับรู้ที่สำคัญที่สุด ตามด้วย Facebook และอินเทอร์เน็ตโดยมีวิทยุเป็นช่องทางที่สำคัญอันดับที่ 3 และคาดว่า Facebook และอินเทอร์เน็ตจะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นทุกปี

เหตุนี้ จึงไม่สามารถมองข้ามกัมพูชาในเรื่องธุรกิจอี-คอมเมิร์ซได้ เนื่องจากกัมพูชามีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ด้านอี-คอมเมิร์ซกับจีน โดยจีนจะช่วยทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค
การพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม การทหารและแม้กระทั่งเรื่องการค้าออนไลน์ โดยจีนจะอ้างเสมอว่าเป็นไปเพื่อสนับสนุนโครงการ The Belt and Road Intitative (BRI) ซึ่งก่อนหน้านี้โครงการนี้มีชื่อว่าเส้นทางเศรษฐกิจและการเดินเรือสายไหมในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเชื่อมโยงการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียที่อยู่บนเส้นทางดังกล่าวที่จีนต้องการใช้เพื่อสร้างเครือข่ายแสวงหาแนวร่วมในการคานอำนาจกับมหาอำนาจอื่น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศที่เป็นคู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่างหนุนกันได้อย่างดียิ่ง โดยการค้าระหว่าง 2 ประเทศมีมูลค่าเกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 และการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นมากในอนาคต

อย่างไรก็ดี อี-คอมเมิร์ซ จะนำมาถึงโอกาสทางธุรกิจที่มากมายสำหรับนักธุรกิจคนรุ่นหนุ่มสาว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตตามไปด้วย แม้ว่าในปัจจุบันกัมพูชาจะยังไม่มีกฎหมายเรื่องอี-คอมเมิร์ซเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในอาเซียน แต่ก็คาดว่ากฎหมายนี้จะผ่านสภาเพื่ออนุมัติให้ใช้ได้ในปีหน้า

จากสถิติของกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมของกัมพูชา แจ้งว่า จากจำนวนประชากร 15 ล้านคนของกัมพูชา มีการใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 8 ล้านคน ผ่านสมาร์ทโฟน

การที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซ ทำให้เป็นโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทยอย่างมาก เพราะประเทศไทยในยุค 4.0 ต้องการให้คนไทยรู้จักการทำการค้าผ่านโลกดิจิทัล และไม่ต้องการหลุดกระแสการค้าโลก จากพฤติกรรมการบริโภคของคนกัมพูชาที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ รัฐบาลไทยได้มองหาโอกาสที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย คือทำอย่างไรให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างครบถ้วนและสามารถขจัดจุดอ่อ และข้อกังวล หรือสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

สำนักงานผู้แทนการค้าต่างประเทศ ณ จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ให้ความเห็นว่า ไทยควรจัดเตรียมบุคลากรเพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศไทย และภาครัฐควรรุกเข้ามาเจรจาหาความร่วมมือกับรัฐบาลกัมพูชาในด้านอี-คอมเมิร์ซ เช่นเดียวกับที่จีนกำลังดำเนินการกับกัมพูชา เพื่อเป็นโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งด้านออนไลน์และออฟไลน์