posttoday

ธุรกิจเหล็กในเมียนมา (3)

22 ตุลาคม 2561

สองตอนที่ผ่านมา เราจะเห็นภาพด้าน Supply ของธุรกิจค้าเหล็กในเมียนมาว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

โดย...กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

สองตอนที่ผ่านมา เราจะเห็นภาพด้าน Supply ของธุรกิจค้าเหล็กในเมียนมาว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ตลาดในเมียนมานั้นจะอยู่ตรงไหนของย่างกุ้ง พอจะมองออกนะครับสำหรับผู้ประกอบการว่าเราจะไปขายกันที่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องทราบคือ เหล็กที่นี่ราคาถูกมาก การแข่งขันที่นี่ล้วนแล้วแต่เอาราคาเข้าต่อสู้กันเต็มๆ การตลาดที่นี่ไม่ต้องคิดอะไรให้สลับซับซ้อน ประเภท 4P 7P 8P ไม่มีครับ P แรกก็พอแล้ว คือ P Price ราคาอย่างเดียวก็พอเลย ทีนี้มาดูว่าพ่อค้าที่นี่เขาคิดกันอย่างไร เขาจะไม่มองหรือคำนึงเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) หรอกครับ แต่พวกเราจะทำการค้าหรือลงทุนอะไร พวกเราควรต้องคิดถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสด้วย

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำธุรกิจ A อยู่ เรามีรายได้ 10 บาทจากการที่ต้องเอากำลังกายกำลังทรัพย์ไปทำ แต่พอเราเข้าไปทำธุรกิจ B แล้วทำให้เราเสียโอกาสทางธุรกิจ A ไป เราควรนำเอาค่าเสียโอกาสของธุรกิจ A ในมูลค่า 10 บาทมาเป็นต้นทุนด้วย แต่ที่นี่เขาไม่เคยคิด แม้กระทั่งค่าตัวของเขาเองเขายังไม่เคยคิดเลย ดังนั้นเวลาที่เขาดัมพ์ราคาลงมาต่อสู้กัน จะเห็นว่าราคาต่ำสุดๆ ถูกสุดๆ กำไรน้อยสุดๆ ดังนั้นก็จะมีพ่อค้าเหล็กบางคนที่พอสู้ราคากันไม่ได้ ก็จะไปลดปริมาณคุณภาพของเหล็กลง ด้วยการขายเหล็กไม่เต็มน้ำหนัก เช่น เหล็กสิบสองหุน พอส่งของเข้ามาจริงๆ อาจจะเหลือแค่สิบหุนก็เป็นไปได้ครับ

ส่วนอีกเรื่องคือคุณภาพของเหล็ก ก็อย่างที่เขียนไว้ในตอนแรกว่า จะมีการนำเอาเหล็กเก่ามาหลอมใหม่ ผมมีเพื่อนที่ทำโรงงานเหล็กในนิคมอุตสาหกรรม
ลันตายา ผมเห็นเขาหลอมเหล็กแล้ว บอกได้เลยว่าวิศวกรยังอายเลยครับ สุดยอดมาก การผสมเหล็กเก่าใหม่ การชั่งน้ำหนัก การตรวจสอบคุณภาพ หาดูที่ไหนไม่ได้ในประเทศไทยเลยละครับ เขายังเคยชวนผมทำธุรกิจเหล็กร่วมกันเลยครับ เขาบอกว่าเรามาขอใบอนุญาตผ่าเรือเดินสมุทรกันเถอะ โดยการหาซื้อเรือเก่าที่ปลดระวางที่ไม่สามารถใช้การได้แล้ว นำเข้ามาที่เมียนมา แล้วทำการผ่าแยกชิ้นส่วน แล้วนำมาทำการหลอมใหม่ เนื่องจากเหล็กจากเรือเดินสมุทรเหล่านี้ คุณภาพจะยอดเยี่ยมมาก เมื่อนำมาหลอมใหม่ จะได้เหล็กกล้าที่มีคุณภาพดุจดังเหล็กใหม่เลย เสียดายที่ผมไม่มีทุนทรัพย์มากพอ อีกอย่างผมไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย เลยต้องปฏิเสธเขาไปครับ

การนำเข้าเหล็กในปัจจุบันนี้ พ่อค้าเมียนมาที่อยู่ในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นคนเมียนมาเชื้อสายอินเดีย กับเชื้อสายจีน ปัจจุบันนี้เขาเริ่มที่จะนำเข้าเหล็กจากจีนมากขึ้นมาเยอะมากแล้ว จากอดีตที่ต้องพึ่งพาอาศัยไทยและอินเดีย ซึ่งจากจีนเขาจะสามารถเจรจากันได้ดีมากสำหรับ
เมียนมาเชื้อสายจีน ดังนั้นเขาจึงเข้าไปซื้อตรงจากจีนเองเลย สำหรับผู้ประกอบการไทย หากยังต้องการรักษาตลาดนี้อยู่อีกต่อไป คงต้องคิดหนัก ทั้งเรื่องการลดต้นทุน การคงคุณภาพเพื่อขายคุณภาพ การลด Supply Chains หรือห่วงโซ่อุปทานให้สั้นลง เป็นต้น ครับ สู้ๆ ครับ อย่าปล่อยให้ตลาดหลุดลอยไป