posttoday

รุกใช้กรอบ AFTA ส่งออกอาเซียนพุ่ง

17 ตุลาคม 2561

สิทธิประโยชน์ทางการค้าเอฟทีเอ มีแนวโน้มเพิ่มเติมมากขึ้นในอนาคต

โดย...อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

สิทธิประโยชน์ทางการค้า โดยเฉพาะกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยได้ทำไว้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งหมด 12 ฉบับ ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มเพิ่มเติมมากขึ้นในอนาคต รวมถึงการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) จากประเทศพัฒนาแล้วที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา ทำให้สินค้าไทยมีแต้มต่อที่จะแข่งขันในตลาดเพิ่มมากขึ้น

อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ผลจากการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ช่วง 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) ปี 2561 พบว่ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น 19.12% มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ 4.98 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 74.64% ของการได้รับสิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอมูลค่า 4.67 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19.77% หรือมีอัตราการใช้สิทธิ 75.91% และการส่งออกภายใต้จีเอสพีมูลค่า 3,169.93 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10.35% หรือมีอัตราการใช้สิทธิ 59.84%

รุกใช้กรอบ AFTA ส่งออกอาเซียนพุ่ง

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นการใช้สิทธิเอฟทีเอช่วง 8 เดือน 2561 พบว่ากรอบเอฟทีเอที่มีการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียนมูลค่า 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ จีน มูลค่า 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย มูลค่า 6,260.61 ล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่น มูลค่า 4,998.82 ล้านดอลลาร์ และอินเดีย มูลค่า 2,990.25 ล้านดอลลาร์ และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ พบว่าตลาดนิวซีแลนด์เป็นเพียงตลาดเดียวมีอัตราการขยายตัวเป็นลบ ในขณะที่ทุกตลาดที่เหลือมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น โดยตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู เพิ่ม 59.66% รองลงมาคือ จีน เพิ่ม 31.36% และอินเดีย เพิ่ม 25.07%

นอกจากนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ช่วง 8 เดือน โดยประเทศที่ไทยใช้สิทธิส่งออกในแง่ของมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนาม 5,055 ล้านดอลลาร์ อินโดนีเซีย 4,503.43 ล้านดอลลาร์ และฟิลิปปินส์ 3,791.53 ล้านดอลลาร์ และที่ต้องจับตาคือการส่งออกไปเมียนมาที่มีอัตราการขยายตัวการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นกว่า 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากเมียนมาอนุมัติให้ใช้ฟอร์มดีในการส่งออกที่ด่านเมียวดี ภายในระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงของการออกฟอร์ดดี ทำให้อัตราการส่งออกไปตลาดเมียนมาเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่ยอดการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้จีเอสพีช่วง 8 เดือน 2561 ไทยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้จีเอสพีสหรัฐมากสุด คือ ประมาณ 90% ของมูลค่าการใช้สิทธิจีเอสพีทั้งหมด โดยมีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 2,858.82 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3.56% หรือมีอัตราการใช้สิทธิ 68.46% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิจีเอสพี ซึ่งมีมูลค่า 4,176 ล้านดอลลาร์ สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์จีเอสพีสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยางอาหารปรุงแต่ง และรถจักรยานยนต์

อดุลย์ กล่าวว่า แม้ว่าหลายฝ่ายยังมีความกังวลต่อเสถียรภาพนโยบายการค้าของประเทศมหาอำนาจ และความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่กรมมั่นใจว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 ได้ตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ ไว้ที่ 9% มูลค่า 7.07 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 10%

จะเห็นได้ว่า ประโยชน์จากสิทธิทางการค้าได้ช่วยเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าให้กับไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้น แนวโน้มที่กรมการค้าต่างประเทศตั้งเป้าหมายในปี 2561 ว่าจะมีอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นถึง 10% จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะผลักดันให้สำเร็จ