posttoday

อีคอมเมิร์ซ ดันค้าชายแดน

03 ตุลาคม 2561

ปัจจุบันอี-คอมเมิร์ซมีการขยายตัวอย่างมากและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตข้างหน้า

ปัจจุบันอี-คอมเมิร์ซมีการขยายตัวอย่างมากและมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตข้างหน้า ขณะเดียวกันความร่วมมือกันในอาเซียนที่จะลดการกีดกันทางการค้าและข้อจำกัดทางพิธีการศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางอี-คอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งจะผลักดันให้การค้าชายแดนขยายตัวอีกทางหนึ่ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ให้ข้อมูลว่า การขยายตัวของอี-คอมเมิร์ซจะช่วยผลักดันการค้าผ่านชายแดนให้เติบโตมากขึ้น โดยจากการวิจัยของกูเกิลและเทมาเสก คาดการณ์ว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซในอาเซียนจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมถึง 30% ต่อปี และจะมีมูลค่าประมาณ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านดิจิทัลค่อนข้างสูง โดยประชากรมีการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือสูงสุดในภูมิภาค และจากการสำรวจของธนาคารโลก ประชากรไทยมีการใช้จ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนต์) ค่อนข้างสูง ดังนั้น ไทยถือว่ามีศักยภาพทางโครงสร้างมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค ส่งผลให้บริษัทต่างชาติ เช่น อาลีบาบาเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอี-คอมเมิร์ซในไทย โดยมุ่งหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ ซึ่งจะส่งเสริมการส่งออกสินค้าจากจีนมายังภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดในจีนมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบธุรกิจต่อธุรกิจ (บีทูบี)

อีคอมเมิร์ซ ดันค้าชายแดน

“การที่จีนเข้ามาลงทุนในอุตสาห กรรมอี-คอมเมิร์ซในไทยจะช่วยผลักดันการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างจีนกับไทยมากขึ้น นอกเหนือจากนี้ โครงการเขตการค้าอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหนานหนิงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจะช่วยกระตุ้นการค้าชายแดนระหว่างจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น” รายงานระบุ

อย่างไรก็ดี การนำเข้าผ่านทางอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของจีนในปี 2560 เติบโตประมาณ 58.3% และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของการค้าชายแดนระหว่างไทยและจีนยิ่งขึ้น โดยอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของไทยคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 25% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าจากจีนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าชายแดนในภูมิภาคให้ยิ่งสูงขึ้น อีกทั้งอี-คอมเมิร์ซระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบธุรกิจต่อผู้บริโภค(บีทูซี) โดยจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อี-คอมเมิร์ซในรูปแบบบีทูซีของไทยและเวียดนามเติบโตถึง 38.4% และ 36.9% ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยผลักดันการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอีกทางหนึ่งด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อี-คอมเมิร์ซจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการค้าชายแดนให้เติบโตในอัตราที่เร็วขึ้นท่ามกลางการเชื่อมโยงทางการค้าที่สูงขึ้นภายในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันไทยถือว่ามีศักยภาพและความพร้อม ส่งผลให้การค้าชายแดนผ่านทางอี-คอมเมิร์ซของไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอีก 5 ปีข้างหน้า