posttoday

การบินอาเซียนโตพุ่ง

13 กันยายน 2561

เล็งเปิดบินเสรีอาเซียน-ยุโรปภายในปีนี้ รับตลาดการบินโตก้าวกระโดด คมนาคมตั้งเป้าขยาย 3 สนามบินหลักรับ 190 ล้านคนภายใน 20 ปี

โพสต์ทูเดย์ - เล็งเปิดบินเสรีอาเซียน-ยุโรปภายในปีนี้ รับตลาดการบินโตก้าวกระโดด คมนาคมตั้งเป้าขยาย 3 สนามบินหลักรับ 190 ล้านคนภายใน 20 ปี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุม ICAO - EASA Forum on Civil Aviation in South East Asia ว่า ภายในปีนี้จะเปิดเสรีทางการบินระหว่างยุโรปและชาติอาเซียน เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มภูมิภาคดังกล่าวมีการเปิดเสรีการบินอยู่แล้ว กล่าวคือผู้ประกอบการสายการบินอาเซียนสามารถขอเปิดเส้นทางทำการบินเข้ายุโรปได้อย่างเสรี แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานทางการบินที่เป็นสากลและมาตรการความปลอดภัย ICAO ดังนั้นในอนาคตกลุ่มประเทศยุโรป 28 ชาติ และกลุ่มชาติอาเซียน 10 ประเทศ จะทำการบินอย่างเสรีแบบ Seamless Open Sky

สำหรับการเปิดเสรีการบินดังกล่าว จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของสายการบินอาเซียนให้สามารถต่อยอดเปิดเส้นทางบินเข้าไปยุโรป เนื่องจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากชื่นชอบการเดินทางมายังชาติอาเซียน ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพการขนส่งทางอากาศเพื่อรองรับตลาดการบินที่เติบโตแบบก้าวกระโดดโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกในปัจจุบันที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5.8% และจะเติบโตมากขึ้นอีก 100% ภายใน 20 ปีข้างหน้า

ขณะที่การเติบโตของปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินในไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10% แบ่งเป็นเส้นทางระหว่างประเทศ 10% และเส้นทางภายในประเทศ 12% สำหรับแผนพัฒนาสนามบินของไทยในช่วง 20 ปีข้างหน้านั้น จะเร่งพัฒนา 3 สนามบินหลัก คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 190 ล้านคน พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและศูนย์ซ่อมอากาศยานระดับโลก รวมถึงแหล่งผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในพื้นที่อีอีซี

นายอาคม กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นต่อเนื่องที่หารือกันเพื่อรองรับเปิดเสรีการบินและตลาดการบินในอนาคต เน้นที่การบริหารห้วงอากาศและปริมาณการจราจรทางอากาศร่วมกันให้มีความปลอดภัยและขั้นตอนรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ตลอดจนการป้องกันข้อมูลของผู้โดยสารไม่ให้ถูกโจรกรรม (Hack) ปัจจุบันประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และพยายามเร่งรัดแผนดำเนินการปกป้องข้อมูลทางการบิน ควบคู่ไปกับการนำแผนบริหารห้วงอากาศที่เป็นโมเดลของสนามบินของอังกฤษมาใช้เพราะสามารถบริหารจัดการเที่ยวบินได้จำนวนมากแม้มีพื้นที่สนามบินน้อย